วันเสาร์

๑๐. ปรินิพพาน

คืนวันนั้นเป็นวันเพ็ญวิสาขะปุรณมี (ระหว่างเดือนเมษายน-พฤษภาคม) พระจันทร์เต็มดวง เวลาก็ล่วงมัชฌิมยามไปแล้ว พระบรมศาสดาบรรทมเหยียดพระกายในท่าสีหไสยาสน์ทรงระโหยโรยแรงยิ่งนัก แต่ก็ฝืนพระทัย ดำรงสติมั่น สั่งสอนให้โอวาทพระภิกษุสงฆ์สาวกเป็นครั้งสุดท้ายก่อนเสด็จปรินิพพานดังนี้

"อานนท์ เมื่อเราล่วงลับไปแล้ว พวกเธอทั้งหลายอาจคิดไปว่า บัดนี้ไม่มีพระศาสดาแล้ว อาจรู้สึกว้าเหว่ไร้ที่พึ่ง พวกเธอจงอย่าคิดอย่างนั้น ธรรมก็ดี วินัยก็ดี ที่เราแสดงแล้ว บัญญัติแล้วแก่พวกเธอ ธรรมวินัยเหล่านั้น จักเป็นองค์ศาสดาของพวกเธอทั้งหลายแทนเราต่อไป"

"อีกเรื่องหนึ่ง คือพระฉันนะ เธอดื้อดึง มีทิฐิมานะมาก ไม่ยอมเชื่อฟังอ่อนน้อมใคร เพราะถือว่า เป็นอำมาตย์ ราชบริพารเก่าแก่ของเรา เมื่อเราล่วงลับไปแล้ว ขอให้สงฆ์ลงพรหมทัณฑ์แก่พระฉันนะ คือเธอจะทำ จะพูด สิ่งใด หรือประสงค์จะอยู่อย่างไร ก็ปล่อยเธอตามสบาย สงฆ์ไม่ควรว่ากล่าวตักเตือน ไม่ควรพร่ำสอนเลย เธอจะรู้สึกตัวเองในทีหลัง"

"อีกเรื่องหนึ่งคือ สิกขาบทบัญญัติที่เราได้บัญญัติไว้ เพื่อภิกษุทั้งหลาย จะได้อยู่ด้วยกันอย่างผาสุก ไม่กินแหนงแคลงใจกัน มีธรรมเป็นเครื่องอยู่เสมอกัน สิกขาบทบัญญัติเหล่านั้น มีอยู่เป็นจำนวนมาก เมื่อเราล่วงลับ ไปแล้ว สงฆ์พร้อมใจกันจะถอนสิกขาบทเล็กน้อย ซึ่งขัดกับกาลสมัยเสียบ้างก็ได้ จะเป็นความลำบากในการปฏิบัติ สิกขาบทที่ไม่เหมาะสมัยเช่นนั้น เราอนุญาตให้ถอนสิกขาบทเล็กน้อยได้"

"ภิกษุรูปใดมีความเคลือบแคลงเห็นแย้งในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ในมรรคในข้อปฏิบัติใดๆ ก็ดี จงถามเสีย อย่าเป็นผู้เดือดร้อนในภายหลังว่า เราอยู่เฉพาะหน้าพระศาสดาแล้ว ไม่กล้าถามในที่เฉพาะหน้า"

ปรากฏว่าไม่มีภิกษุรูปใดทูลถาม ตลอดเวลาที่ทรงเตือนซ้ำจนครบสามครั้ง ทุกองค์นั่งเงียบกริบ ในบริเวณป่าต้นสาละแห่งนี้ สงบเงียบไม่มีเสียงใดๆ เลย แม้จะมีพุทธบริษัทประชุมกันอยู่เป็นจำนวนมากก็ตาม พระกำลังของพระผู้มีพระภาคเจ้าเหลือน้อยเต็มทีแล้ว ในที่สุดทรงตรัสปัจฉิมวาจาครั้งสุดท้ายว่า

"ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้เราจักเตือนเธอว่า สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา พวกเธอทั้งหลาย จงยังประโยชน์ตน ประโยชน์ท่าน ให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด นี่เป็นวาจาครั้งสุดท้ายของตถาคต"


ต่อจากนี้ทรงนิ่งเงียบ ไม่ตรัสอะไรอีกเลย เสด็จเข้าปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน อากาสานัญจายตนฌาน วิญญาณัญจายตนฌาน อากิญจัญญายตนฌาน เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน สัญญาเทวยิตินิโรธ แล้วย้อนกลับลงมาตามลำดับจนถึงปฐมฌาน แล้วย้อนขึ้นอีกโดยลำดับจนถึง จตุตถฌาน เป็นอนุโลม ปฏิโลม และเสด็จปรินิพพานในเมื่อออกจากจตุตถฌานนั่นเอง

พระอนุรุทธะเถระ ซึ่งเป็นพระเถระผู้ใหญ่อยู่ในที่ประชุมขณะนั้น และได้รับการยกย่อง จากพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า เป็นผู้เชี่ยวชาญเลิศทางทิพยจักษุ ได้เข้าฌานตาม ทราบว่าพระพุทธองค์เข้าสู่ฌานนั้นๆ แล้ว และก็ปรินิพพานเมื่อออกจากจตุตถฌาน ยังมิได้เข้าสู่อากาสานัญจายตนะ คือพระองค์เสด็จปรินิพพาน ในระหว่างนั้นนั่นเอง (พระบรมศาสดาประสูติ ณ ใต้ต้นสาละในป่าและก็เสด็จดับขันธปรินิพพาน ณ โคนต้นสาละคู่ ในป่า ในวันวิสาขปุรณมี ดิถีเพ็ญเดือน ๖) เหตุอัศจรรย์ก็บันดาลให้เป็นไป มหาปฐพีก็หวั่นไหวครั้งใหญ่ ขนพอง สยองเกล้า น่าหวาดเสียว และกลองทิพย์ก็บันลือลั่นไปในอากาศ พร้อมกับการปรินิพพาน ท่านพระอนุรุทธะ ได้กล่าวว่า

"ลมหายใจออก ลมหายใจเข้า ของพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้มีพระหฤทัยตั้งมั่น คงที่ มิได้มีอีกแล้ว พระมุนีมิได้ทรงพรั่นพรึง ทรงปรารถความสงบ ทรงทำกาละแล้ว มีพระหฤทัยไม่หดหู่ ทรงครอบงำเวทนาได้แล้ว ได้เป็นผู้มีพระทัยหลุดพ้นพิเศษแล้ว เหมือนดวงประทีปที่สว่าง ดับไปฉะนั้น"

บรรดาภิกษุที่ประชุมกันอยู่ ณ ที่นั้น ภิกษุเหล่าใดยังไม่ปราศจากราคะ ก็กอดแขนคร่ำครวญ ฟุบลงกลิ้งเกลือกไปมา รำพันว่า "พระผู้มีพระภาคเจ้าปรินิพพานเสียแล้วๆ" พระอนุรุทธะผู้มีอาวุโสสูงสุด ได้มีบัญชา ให้พระอานนท์ เข้าไปแจ้งข่าวปรินิพพาน แก่มัลละกษัตริย์ในเมืองกุสินารา ซึ่งประจวบกับที่พวกกษัตริย์ กำลังประชุม ปรึกษาพร้อมกันอยู่ ต่างคนก็ต่างเศร้าโศกเสียใจ แล้วรับสั่งให้ราชบุรุษตระเตรียมเครื่องหอม ดอกไม้ ดนตรีและผ้าอีก ๕๐๐ คู่ เข้าไปยังสวนป่าสาลวัน ทำการบูชาพระพุทธสรีระ ด้วยการฟ้อนรำ ขับร้อง ประโคมดนตรีเป็นต้น จนถึงวันที่ ๗ จึงพร้อมกันอัญเชิญพระพุทธสรีระ ไปทางทิศเหนือของพระนคร นำไปประดิษฐาน ณ มกุฏพันธนเจดีย์ ด้านทิศตะวันออก ของนครกุสินารา



มัลละกษัตริย์ได้ปฏิบัติตามพระพุทธประสงค์ คือปฏิบัติเหมือนในพระสรีระของพระเจ้าจักรพรรดิ์ โดยให้พันพระพุทธสรีระด้วยผ้าใหม่ และซับด้วยสำลีบริสุทธิ์ แล้วพันผ้าใหม่ ซับด้วยสำลีอีก โดยนัยนี้ ตามกำหนดถึง ๕๐๐ คู่ เสร็จแล้วอัญเชิญลงประดิษฐานในรางเหล็กซึ่งเต็มไปด้วยน้ำมัน ปิดด้วยรางเหล็กอีกเป็นฝาครอบ แล้วสร้าง จิตกาธาน (เชิงตะกอน) ด้วยไม้หอมทั้งหมด อัญเชิญพระพุทธสรีระ ขึ้นประดิษฐานบนจิตกาธานนั้น เพื่อถวาย พระเพลิงทันที พอดีมีข่าวมาว่าพระมหากัสสป พระเถระผู้ใหญ่ที่พระบรมศาสดา ทรงยกย่องมาก กำลังเดินทาง จากเมืองปาวา จวนจะถึงกุสินาราอยู่แล้ว คณะมัลละกษัตริย์และพระอนุรุทธะ ประธานฝ่ายสงฆ์ จึงให้หยุดการถวายพระเพลิงไว้ก่อน รอจนกระทั่งพระมหากัสสป มาถึงมกุฏพันธนเจดีย์ ท่านและพระภิกษุบริวาร อีกประมาณ ๕๐๐ รูป ได้เดินวนเวียน ประทักษิณจิตกาธาน ๓ รอบแล้ว เปิดแต่พระบาท ถวายบังคมพระบาท ของพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยเศียรเกล้าของตน เสร็จแล้ว พิธีถวายพระเพลิงจึงได้เริ่มขึ้น โดยมีพระมหากัสสป เป็นประธาน ในฐานะอาวุโสสูงสุด

ครั้งนั้น พระเจ้าอชาตศัตรูกษัตริย์ลิจฉวี ศากยะกษัตริย์แห่งกรุงกบิลพัสดุ์ พูลิกษัตริย์ ชาวเมือง อัลลกัปปนคร โกลิยกษัตริย์ ชาวเมืองรามคาม พราหมณ์ผู้ครองนครเวฏฐทีปกะ มัลละกษัตริย์อีกพวกหนึ่ง ที่ครองเมืองปาวา ต่างส่งทูตมาขอปันส่วนแห่ง พระบรมสารีริกธาตุ โดยจะนำไปบรรจุในพระสถูปหรือเจดีย์ต่อไป มัลละกษัตริย์แห่งเมืองกุสินาราไม่ยินยอม โดยอ้างว่าพระพุทธองค์เสด็จปรินิพพานในดินแดนของตน จึงเกิดโต้เถียง กันขึ้น จนจวนจะเกิดสงครามใหญ่ โทณพราหมณ์ นักปราชญ์ใหญ่ท่านหนึ่งแห่งกุสินารา เห็นเหตุการณ์แปรผันไป เช่นนั้น จึงขอร้องให้กษัตริย์ทั้งหลายสามัคคีปรองดองกัน ด้วยการแบ่งพระบรมสารีริกธาตุออกเป็น ๘ ส่วน นำไป บรรจุในสถูปในที่ต่างๆ กัน เพื่อให้แพร่หลายไปทั่วทุกทิศ ในที่สุดก็ตกลงกันได้ ฝ่ายกษัตริย์วงศ์เมารยะ(หรือโมริยะ) มาถึงช้า จึงได้แต่พระอังคารไป (คือเถ้าถ่านเหลือจากการถวายพระเพลิง)

สถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุมีอยู่ ๘ เมืองด้วยกันคือ
๑. กษัตริย์ลิจฉวี ทรงสร้างเจดีย์บรรจุไว้ที่เมืองเวสาลี
๒. กษัตริย์ศากยะ ทรงสร้างเจดีย์บรรจุไว้ที่เมืองกบิลพัสดุ์
๓. กษัตริย์ถูลิยะ ทรงสร้างเจดีย์บรรจุไว้ที่เมืองอัลลกัปปะ
๔. กษัตริย์โกลิยะ ทรงสร้างเจดีย์บรรจุไว้ที่เมืองรามคาม
๕. มหาพราหมณ์ สร้างเจดีย์บรรจุไว้ที่เมืองเวฏฐทีปกะ
๖. กษัตริย์มัลละแห่งเมืองปาวา ทรงสร้างเจดีย์บรรจุไว้ที่เมืองปาวา
๗. พระเจ้าอชาตศัตรู ทรงสร้างเจดีย์บรรจุไว้ที่เมืองราชคฤห์
๘. มัลลกษัตริย์แห่งกุสินารา ทรงสร้างเจดีย์บรรจุไว้ที่เมืองกุสินารา
* กษัตริย์เมืองโมริยะ ทรงสร้างสถูปบรรจุพระอังคาร ไว้ที่เมืองปิปผลิวัน (กษัตริย์โมริยะมาหลังจากที่แบ่งพระบรมสารีริกธาตุเรียบร้อยแล้วจึงได้แค่เถ้าถ่านที่เหลือไป)
* โทณพราหมณ์ สร้างสถูปบรรจุทะนานตวงพระบรมสารีริกธาตุ ไว้ที่เมืองกุสินารา (โทณพราหมณ์เป็นผู้แบ่งพระบรมสารีริกธาตุ จึงได้สร้างสถูปเอาไว้เก็บ ทะนาน ที่ใช้ตวงไว้ด้วย)

นอกจากนี้ ยังมีพระบรมสารีริกธาตุอีกส่วนและเครื่องบริขารของพระพุทธเจ้า ก็ได้ถูกแบ่งไปยังเมืองต่างๆด้วย
๑. พระทันตธาตุ อยู่ใน สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ , เมืองคันธารวิสัย , เมืองกาลิงคราช , และ นาคบุรี
๒. พระทันตธาตุที่เหลือ และ พระเกศธาตุ และ พระโลมา เทวดาได้นำไปไว้ยังจักวาลหนึ่งๆ จักรวาลละอย่าง (ไม่มีระบุชื่อไว้ว่าที่ไหนบ้าง)
๓. บาตร , ไม้เท้า และ จีวร อยู่ใน วชิรานคร
๔. ผ้าปัจจัตถรณะ อยู่ใน สีหฬ
๕. ธมกรกและประคตเอว อยู่ใน นครปาฏลิบุตร
๖. ผ้าอาบน้ำ อยู่ในจำปานคร
๗. อุณณาโลม อยู่ใน แคว้นโกศล
๘. ผ้ากาสาวพัสตร์ อยู่ในพรหมโลก
๙. ผ้าโพก อยู่ในดาวดึงส์
๑๐. ผ้านิสีทนะ อยู่ในอวันตีชนบท
๑๑. ผ้าลาด อยู่ในดาวดึงส์
๑๒. ไม้สีไฟ อยู่ในมิถิลานคร
๑๓. ผ้ากรองน้ำ อยู่ในวิเทหรัฐ
๑๔. มีดและกล่องเข็มอยู่ในอินทปัตถนคร

ต่อมาพระเจ้าอชาตศัตรูได้ทำการรวบรวมพระบรมสารีริกธาตุทั้งหมดมาไว้ที่เดียวกันอีกครั้ง จากนั้นประมาณ ๓๐๐ ปีหลังปรินิพพาน พระเจ้าอโศกมหาราช ได้โปรดให้นำพระบรมสารีริกธาตุทั้งหมดระจายไปบรรจุในพระวิหาร ๘๔,๐๐๐ วิหารที่ทรงสร้างไว้

พระบรมธาตุสัณฐานเมล็ดพันธ์ผักกาด เป็นพระบรมธาตุส่วนแตกกระจายที่มีขนาดเล็กที่สุด


ศากยวงศ์, • พระโพธิสัตว์จุติ, • ประสูติ, • คำทำนายโหราจารย์,  • เสด็จออกบรรพชา, • ตรัสรู้, • เสวยวิมุติสุข, • ปฐมเทศนา• ๔๕พรรษา, • ปรินิพพาน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น