วันจันทร์

๐๘. ปฐมเทศนา

ครั้นถึงวันอาสาฬหปุณณมี วันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๘ อาสาฬหมาส ได้โอกาสอันควรที่จะแสดงธรรม โปรดพระปัญจวัคคีย์ พระพุทธองค์จึงประกาศพระธัมมจักกัปปวัตตนสูตร หรือการปฐมเทศนาครั้งแรกในโลก ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวันแห่งนั้น พระพุทธองค์ทรงแสดงถึงที่สุดสองอย่าง ที่ภิกษุไม่ควรเสพ คือ การพัวพันหนักใน กามสุข และการประกอบกรรม อันเป็นการทรมานตัวเองให้เหนื่อยเปล่า ไม่ใช่ทางแห่งความหลุดพ้น ทรงชี้ทางให้ ดำเนินตาม มัชฌิมาปฏิปทา คือทางสายกลางที่เรียกว่า มรรคมีองค์ ๘ ได้แก่

สัมมาทิฏฐิ - ความเห็นชอบ คือญาณปัญญาที่รู้ชัดในอริยสัจจ์ ๔ ว่า นี่ทุกข์ นี่เหตุให้เกิดทุกข์ นี่ความดับโดยไม่เหลือแห่งทุกข์ นี่ทางดำเนินเพื่อให้ถึงความดับทุกข์

สัมมาสังกัปโป - คือดำริชอบในการที่จะออกจากกามารมณ์ทั้งหลายดำริในเรื่องเลิก ไม่ผูกพยาบาทเขาและดำริชอบในอันที่จะไม่เบียดเบียนเขา

สัมมาวาจา - เจรจาชอบ คือเว้นจากการกล่าวคำเท็จ เว้นจากกล่าวคำส่อเสียด เว้นจากกล่าวคำหยาบ คำพูดที่เพ้อเจ้อ เหลวไหล ไม่มีประโยชน์

สัมมากัมมันโต - ประกอบการงานชอบ คือ เว้นจากฆ่าสัตว์ตัดชีวิต เว้นจาการถือเอาสิ่งที่เจ้าของเขาไม่อนุญาตให้ (ขโมย) และเว้นจากการประพฤติผิดลูกเมียเขา

สัมมาอาชีโว -เลี้ยงชีพชอบคือ เว้นจากการเลี้ยงชีวิตในทางที่ผิดโดยอุบายทุจริตหลอกหลวง บีบคั้นผู้อื่น ให้ทำเฉพาะการงานประกอบอาชีพที่ดีที่ชอบ

สัมมาวายาโม - เพียรระวังไม่ให้บาปเกิดขึ้นในสันดาน เพียรละบาปอกุศลที่เกิดขึ้นแล้ว เพียรยังบุญกุศลที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น และเพียรรักษาบุญกุศลที่เกิดขึ้นแล้วไม่ให้เสื่อมหายไปเสีย

สัมมาสติ - ระลึกชอบ คือ เฝ้าคำนึงใคร่ครวญพิจารณาสติปัฏฐานทั้งสี่เสมอ คือให้มีสติกำหนดพิจารณา กาย เวทนา จิต และธรรม ให้เห็นเป็นแต่สักว่า กาย เวทนา จิต และ ธรรม ส่วนหนึ่งๆ เท่านั้น หาได้มีสัตว์บุคคล ตัวตน เรา เขา ผู้หญิง ผู้ชาย อะไรที่ไหนเลย เรียกว่ามีแต่รูป หรือกายกับนาม คือจิตผู้รู้เท่านั้นในโลกนี้แล้วถอนทิ้งเสียซึ่งความยินดียินร้ายในโลกเสีย

สัมมาสมาธิ - ตั้งจิตไว้ชอบ คือ ทำจิตให้สงบจากกามารมณ์ และธรรมทั้งหลายที่เป็นอกุศลที่เป็นนิวรณ์ด้วยการเจริญสมาธิ เจริญญาณทั้งสี่ให้เกิดให้มีขึ้น

พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสเล่าให้ภิกษุสงฆ์ฟังภายหลังว่า "ตถาคต ผู้อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ประกาศ อนุตตรธรรมจักร ให้เป็นไปแล้ว ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ใกล้นครพาราณสี เป็นธรรมจักรที่สมณะ หรือพราหมณ์ เทพ มาร พรหม หรือใครๆ ในโลก จะต้านทานให้หมุนกลับไม่ได้" ข้อนี้คือการบอก การแสดง การบัญญัติ การแต่งตั้ง การเปิดเผย การจำแนก และการทำให้ตื่น ซึ่งความจริงอันประเสริฐสี่ประการ ได้แก่

๑. ความจริงอันประเสริฐคือความทุกข์
๒. เหตุให้เกิดทุกข์
๓. ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์
๔. หนทางทำผู้ปฏิบัติให้บรรลุถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์

สรุปได้ว่า พระพุทธองค์ทรงเห็นสังขารทุกข์ของสัตว์มนุษย์ทั้งปวงว่า เมื่อเกิดมาแล้วมันมีแต่ทุกข์ทั้งนั้น จะต้องแก่ เจ็บ ตาย เป็นต้น แล้วก็มาเกิดอีก หมุนเวียนอยู่ดังนี้เรื่อยไปเป็นลูกโซ่ ทีนี้ทำอย่างไรเล่าจะไม่ต้องมาแก่ เจ็บ ตาย และทนทุกข์ทรมาน รวมถึงทุกข์อื่นๆ เช่น ความโศก ความรำพัน เป็นต้น มีทางเดียวคือเลิกเกิด ทำอย่างไร มันถึงจะเลิกเกิดได้ ที่เราต้องเวียนเกิดเวียนตายกันอยู่นี้ ก็เพราะอวิชชา เราต้องทำลายอวิชชาให้หมดไป คือ มารู้ และปฏิบัติตามความจริงอันประเสริฐสี่ประการที่เรียกว่า อริยสัจจ์ ๔

ท่านโกณฑัญญะ ผู้เป็นหัวหน้าตั้งใจฟังไปตามกระแสแห่งพระธรรมเทศนา ก็ได้ปัญญาเห็นธรรม ปราศจากมลทิน คือ โสดาปัตติมรรคเกิดขึ้นว่า "สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งทั้งปวงเหล่านั้น ก็จะต้อง มีความดับไปเป็นธรรมดาเช่นกัน" เมื่อพระองค์ทรงทราบว่า ท่านโกณฑัญญะได้ดวงตาเห็นธรรมแล้ว จึงเปล่งพระ อุทาน ว่า "โกณฑัญญะได้รู้แล้วหนอๆ" แล้วพระโกณฑัญญะจึงทูลขออุปสมบท ก็โปรดอนุญาตให้เป็นภิกษุ ด้วยเอหิภิกขุอุปสัมปทา ต่อจากนั้นมา พระองค์ทรงอบรมสั่งสอนท่านภัททิยะ วัปปะ มหานาม และท่านอัสสชิ เพื่อให้มีปัญญาแก่กล้าขึ้น ทั้งสี่ท่านก็ได้สำเร็จเป็นโสดาบันทุกองค์แล้วจึงทูลขออุปสมบท ต่อมาทรงเห็นว่า ภิกษุทั้งห้ามีอินทรีย์แก่กล้า ควรแก่การเจริญปัญญาเพื่อความหลุดพ้นจากกิเลสแล้ว ก็โปรดเทศน์เรื่อง อนัตตลักขณสูตร ภิกษุเหล่านั้นเข้าใจโดยถ่องแท้จากการฟังพระธรรมเทศนาตามไปจนจบ ก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ ทั้งหมดด้วยกัน เป็นอันว่าพระพุทธรัตนะ พระธรรมรัตนะ และพระสังฆรัตนะ ได้เกิดขึ้นพร้อมแล้ว ณ ที่นี้



ศากยวงศ์, • พระโพธิสัตว์จุติ, • ประสูติ, • คำทำนายโหราจารย์,  • เสด็จออกบรรพชา, • ตรัสรู้, • เสวยวิมุติสุข, • ปฐมเทศนา, • ๔๕ พรรษา, • ปรินิพพาน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น