วันพุธ

๐๔. คำทำนายโหราจารย์

เมื่อพระองค์ประสูติแล้ว พระเจ้าสิริสุทโธทนะราชบิดา ก็ได้พาเสด็จกลับกรุงกบิลพัสดุ์ อัญเชิญพราหมณ์ปุโรหิต ที่เป็นโหราจารย์ยอดเยี่ยม ๑๐๘ คน มาเลือกสรรค์ เอาแต่ผู้เชี่ยวชาญยอดเยี่ยมจริงๆ ได้ ๘ คน ในพราหมณ์โหราจารย์แปดคนนั้นเป็นคนแก่ เจริญด้วยวัยวุฒิเสียเจ็ดคน พยากรณ์รวมพร้อมกันเป็นสองคติว่า

"พระกุมารนี้ถ้าอยู่ครองราชสมบัติ จะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ์ ถ้าออกทรงผนวชจะได้ บรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นศาสดาเอกในโลก"



ส่วนโกณฑัญญะพราหมณ์* ซึ่งยังเป็นเด็กหนุ่มอยู่ในขณะนั้น แต่สูงด้วยความรู้ ได้ถวายพยากรณ์เป็นคติเดียวว่า
"พระกุมารพระองค์นี้ จะไม่อยู่ในราชสมบัติ จะเสด็จออกทรงผนวชและตรัสรู้เป็น พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นศาสดาเอกในโลกแน่นอน"
* ท่านโกณฑัญญะผู้นี้เชื่อในคำทำนายของตนเอง เลยออกบวชไปรออยู่ก่อน หลังจากที่เจ้าชายสิทธัตถะ ตรัสรู้ เป็นพระพุทธเจ้า ก็ได้เป็นศิษย์องค์แรกของพระองค์ ต่อมาได้ฟังปฐมเทศนาจากพระพุทธองค์ได้สำเร็จโสดาบัน และเป็นพระสงฆ์องค์แรกของพุทธศาสนา

เจริญพระชันษา
เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะเติบโตขึ้น ทรงได้รับการศึกษาเล่าเรียนโดยเชิญผู้รู้เป็นพราหมณ์ผู้เฒ่า ชื่อ วิศวามิตร มาสอนในวัง วิชาที่สอนก็เป็นไปตามที่สอนกันในสมัยนั้น คือ ศิลปศาสตร์ ๑๘ ประการ* มีการรบ เป็นต้น
เจ้าชายสิทธัตถะทรงได้รับการศึกษาเพียบพร้อมบริบูรณ์ทุกแขนง ทั้งทางยุทธวิธีทหาร การปกครอง และการศาสนา ทรงได้ผ่านการชนะเลิศทุกครั้งที่มีการประลองฝีมือต่อสู้ ป้องกันตัว และทดสอบวิชาความรู้ ทุกประเภท จนพระเกียรติเลื่องลือไปทั่วชมพูทวีป



* ศิลปศาสตร์ ๑๘ หมายถึงวิชาความรู้ต่างๆ ซึ่งได้มีการเรียนการสอนกันมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล เรียกกว่า ศิลปศาสตร์ ได้แก่ ่
๑. ความรู้ทั่วไป (สูติ)
๒. ความรู้กฏธรรมเนียม (สัมมติ)
๓. คำนวณ (สังขยา)
๔. การช่างการยนตร์ (โยคยันตร์)
๕. นิติศาสตร์ (นีติ)
๖. ความรู้การอันให้เกิดมงคล (วิเสสิกา)
๗. วิชาร้องรำ (คันธัพพา)
๘. วิชาบริหารร่างกาย (คณิกา)
๙. วิชายิงธนู (ธนุพเพธา)
๑๐. โบราณคดี (ปุราณา)
๑๑. วิชาแพทย์ (ติกิจฉา
๑๒. ตำนานหรือประวัติศาสตร์ (อิติหาสา)
๑๓. ดาราศาตร์ (โชติ)
๑๔. ตำราพิชัยสงคราม (มายา)
๑๕. การประพันธ์ (ฉันทสา)
๑๖. วิชาพูด (เกตุ)
๑๗. วิชามนต์ (มันตา)
๑๘. วิชาไวยากรณ์ (สัททา)

เมื่อพระชนมายุ ๑๖ พรรษา ได้ทรงทำการอภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงพิมพา ยโสธรา ราชธิดาพระเจ้าสุปปพุทธะ แห่งกรุงเทวทหะนคร จากการทำนายของโหร พระเจ้าสุทโธทนะทรงเกรงว่า สิทธัตถะราชกุมารจะออกบวชเสีย จึงตรัสให้ สร้างปราสาทถวายสามแห่งคือสำหรับประทับในฤดูฝน ฤดูหนาว และฤดูร้อน แล้วให้บำรุงบำเรอด้วยความสุข ทางกามคุณทุกวิถีทาง ในปราสาทนั้นเต็มไปด้วยสิ่งสวยงาม รวมถึงสาวใช้รูปร่างดี ชำนาญในการฟ้อนรำ ตามแบบอินเดีย รอบๆ ปราสาทมีสวน มีสระ มีนก มีปลา และมีอะไรๆ ที่น่ารื่นรมย์เพื่อความเพลิดเพลินของเจ้าชาย แล้วก็ในปราสาทนั้นมีแต่สตรีทั้งนั้น คอยเอาใจใส่รับใช้ใกล้ชิด ช่วยเหลือทุกสิ่งทุกประการไม่ให้เจ้าชายเดือดร้อน


ที่พระเจ้าสุทโทนะผู้เป็นบิดาทำเช่นนั้นก็เพื่อผูกมัดเจ้าชาย ไม่ให้คิดถึงเรื่องการบวช แล้วไม่ให้ออก ไปไหนเสียด้วย ถ้าจะไปไหนนี่ต้องได้รับอนุญาตจากพระราชบิดา ในพระทัยของพระราชบิดาก็ไม่อยากให้ออกไปไหน กลัวว่าจะไปคบหาสมาคมกับคนที่เป็นนักบวชในสมัยนั้น จิตใจจะโน้มเอียงไปในทางเป็นฤาษีชีไพร ท่านไม่ต้องการ เพราะว่ามีลูกชายเพียงผู้เดียว อยากจะให้เป็นพระเจ้าแผ่นดินต่อไป ถ้าออกบวชเสียแล้วก็หมดหวัง แต่ว่าความต้องการของพระเจ้าสุทโธทนะหาสำเร็จไม่ เพราะเจ้าชายแม้ไม่ได้ไปไหนก็จริง แต่ว่าชอบ ไปนั่งคนเดียวในป่า ในสวนหลังปราสาท นั่งคนเดียวก็นั่งคิดนั่งนึกอะไรต่างๆ เหม่อลอยไปในเวิ้งว้างของสถานที่ คือเป็นคนชอบคิดนั่นเอง ไปนั่งคิดนั่งนึกอะไรต่างๆ ดูนกดูสัตว์ในบริเวณนั้นว่ามันมีสภาพเป็นอย่างไร สิ่งเหล่านั้น เป็นเครื่องกระตุ้นเตือนจิตใจให้พระองค์เบื่อหน่ายในความเป็นอยู่ในโลก คิดแต่ว่าจะแสวงหาธรรมะท่าเดียว แต่ก็ยังออกไปไหนไม่ได้

ต่อมาก็ได้ทรงขออนุญาตพระบิดา เพื่อออกไปชมบ้านชมเมืองบ้าง พระบิดาก็ได้สั่งให้ตกแต่งบ้านเมือง ให้สะอาดเรียบร้อย ไม่ให้เห็นสิ่งที่ไม่น่าดูเช่น คนแก่ คนเจ็บ คนไข้ คนรูปร่างไม่สมบูรณ์ อะไรนั้น เขาไม่ให้ออกมาเดิน บนถนน กลัวเจ้าชายจะเห็นเข้า กีดกันทุกอย่างไม่ให้พบสิ่งซึ่งทำให้เบื่อหน่าย ให้เห็นแต่สิ่งที่สบายตา ฟังเสียงสบายหู พบคนที่สบายใจ กีดกันอย่างนั้นเพื่อให้ได้อยู่วังครองเมือง

ในการเสด็จชมเมืองวันแรก เจ้าชายได้เห็นคนแก่ร่างกายคู้ผอมเหลือแต่หนังหุ้มกระดูก ถือไม้เท้า เดินกระง่องกระแง่งผ่านมา พระองค์ก็หยุดรถแล้วก็ถามฉันนะว่า ทำไมจึงเป็นอย่างนั้น ฉันนะคนขับรถบอกว่า นี่แหละพระเจ้าค่ะ คนแก่ อายุมากๆ ไปมันก็ต้องแก่อย่างนี้ ท่านก็ถามต่อไปว่า พระบิดาของเราจะแก่อย่างนี้ไหม นายฉันนะก็ตอบอีกว่า ก็เป็นอย่างนี้ทุกคน ไม่มีใครหลีกพ้นความแก่ไปได้ ภาพที่เห็นทำให้สลดพระทัยในเรื่องความแก่แล้วก็สงสารคนแก่ที่ลำบากอย่างนั้น

วันที่สองได้เดินทางออกไปชมเมืองอีก พบคนเจ็บร้องครวญครางอยู่ข้างถนน พระองค์ได้ลงจากรถ เข้าไปใกล้แล้วถามว่าเป็นอะไร เขาคนนั้นบอกกับพระองค์ว่า ไม่สบาย เจ็บตรงนั้นเจ็บตรงนี้ พระองค์ก็สงสาร คนเหล่านั้นว่าทำอย่างไรจะช่วยคนเจ็บเหล่านี้ได้


วันที่สามออกไปเจอคนตาย กำลังหามไปป่าช้า ญาติเดินร้องไห้ครวญคราง สยายผมตีอกชกหัว ไปข้างหลัง เป็นภาพที่สะเทือนใจมาก ทำให้พระองค์คิดว่าชีวิตของคนเรามันก็เท่านี้ อยู่ไปสนุกไปมันก็ตามเท่านั้นเอง ตายแล้วก็ไม่เห็นมีอะไร ไปแต่เสื้อผ้าหุ้มกายนิดหน่อย เอาไปเผา กลายเป็นขี้เถ้า แล้วเราจะมัวเพลิดเพลินอะไร กันหนักหนา แต่ยังไม่คิดไม่ออกว่าจะทำอย่างไร

ส่วนวันที่สี่ก็เสด็จออกชมเมืองอีกครั้งหนึ่ง คราวนี้พระองค์ไปเห็นนักบวชผู้มีอาการสงบเรียบร้อย หน้าตาเปล่งปลั่ง มีอารมณ์ดี ก็เห็นว่า สาธุโขปัพพัชชา บวชดี ท่านพูดกับตัวเองว่า บวชเข้าทีแน่ สาธุโขปัพพัชชา -บวชนี่ดีแน่ แล้วก็เลยไปพักอยู่ในสวน นั่งชมปลาชมนกอะไรไปตามเรื่อง


ศากยวงศ์, • พระโพธิสัตว์จุติ, • ประสูติ, • คำทำนายโหราจารย์,  • เสด็จออกบรรพชา, • ตรัสรู้, • เสวยวิมุติสุข, • ปฐมเทศนา, • ๔๕ พรรษา, • ปรินิพพาน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น