วันพฤหัสบดี

๒. รูปฌาน อรูปฌาน

รูปฌาน
คือ การกำหนดสิ่งที่เป็นรูปธรรมเป็นอารมณ์ เช่น ปถวีกสิณ เป็นต้น ขณะที่ฌานจิตเกิด
นั้นจิตจะต้องเป็นอัปปนาสมาธิ ลักษณะของอัปปนาสมาธิ ก็คือนิ่งอยู่ในอารมณ์เดียว จะไม่ไหวไปรับรู้อารมณ์อื่น จิตมีอารมณ์เป็นบัญญัตินิมิต มีนิมิตเป็นอารมณ์ ก็อยู่อย่างนั้นตลอดเวลา ไม่สามารถจะคิดนึกไปอย่างอื่น ไม่สามารถไปรับสี รับ เสียง รับกลิ่น รับรส รับสัมผัส อย่างอื่น เรียกว่าดับความรู้สึกทางประสาททั้ง ๕ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ไม่รับรู้เลย แม้ทางใจก็รู้เฉพาะอารมณ์เดียวคือนิมิตกรรมฐานอยู่ตลอดเวลา

ปฐมฌาน 
ผู้ปฏิบัติพึงทำความเพียรในการเจริญสมถกรรมฐานมีปฐวีกสิณเป็นต้นเป็นอารมณ์ ด้วยกำลังแห่งสมาธิที่ตั้งมั่น เป็นกุศล และถูกทาง ประคองจิตให้จดจ่อในปฏิภาคนิมิต จิตมีปฏิภาคนิมิตนั้นเป็นอารมณ์ สมาธิตั้งมั่นในขั้นอัปปนาสมาธิ จิตบรรลุถึงปฐมฌาน มีองค์ฌาน ๕ คือ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา

องค์ฌาน ๕ เป็นปฏิปักษ์แก่นิวรณ์ ๕ เมื่อเจริญฌานถึงขั้นฌานจิตเกิดขึ้น องค์ฌานจะสามารถระงับนิวรณ์ คือ

  • วิตก ข่ม ถีนะและมิทธนิวรณ์
  • วิจาร ข่ม วิจิกิจฉานิวรณ์
  • ปีติ ข่ม พยาปาทนิวรณ์
  • สุข ข่ม อุทธัจจะและกุกกุจจนิวรณ์
  • เอกัคคตา ข่ม กามฉันทนิวรณ์

ความหมายขององค์ฌาน ๕
    ๑.วิตก หมายถึง การยกจิตขึ้นสู่อารมณ์ ความนึกถึงอารมณ์ การกำหนดอารมณ์ ( ในขณะที่ได้ฌานนั้นก็คือ ยกจิตขึ้นสู่อารมณ์ที่เป็นนิมิตอยู่)
    ๒. วิจาร หมายถึง การเคล้าคลึงอารมณ์ วิตกและวิจาร เป็นองค์ฌานที่ต่อเนื่องกัน วิตก คือ เอาจิตจรดกับอารมณ์ที่เป็นนิมิต วิจาร คือ เอาจิตไปผูกหรือไปเคล้ากับอารมณ์นั้น
    ๓. ปีติ หมายถึง อิ่มใจ อิ่มในอารมณ์ ดื่มด่ำ ซาบซ่านไปทั่วกายและใจ
    ๔. สุข หมายถึง ธรรมชาติใดย่อมขุดออกซึ่งความไม่สบายกายความไม่สบายใจ ธรรมชาตินั้นชื่อว่า สุข สุขและปีติแตกต่างกัน แยกกันได้ยาก ปีติกับสุขนั้นเปรียบเทียบได้ว่า คนผู้หนึ่งเดินทางมาในทะเลทรายเหนื่อยอ่อน แสนจะร้อนและหิวกระหาย ต่อมาเขาเห็นหมู่ไม้และแอ่งน้ำ หลังจากเขาได้เข้าไปพักผ่อนและดื่มน้ำ อาการดีใจ ที่ได้เห็นหมู่ไม้และแอ่งน้้า เรียกว่า “ปีติ” เมื่อได้เข้าไปพักและได้ดื่มน้้าเรียกว่า “สุข”

อุเบกขา หมายถึง ความวางเฉย มีใจเป็นกลางไม่ติดแม้แต่สุขอันประณีตในฌาน และหมายถึงวางทีดูเฉยเมื่อทุกอย่างดำเนินไปด้วยดี ไม่ต้องขวนขวายกำจัดธรรมที่เป็นข้าศึกในฌานอีก เพราะหมดจดจากธรรมที่เป็นข้าศึกแล้ว (เมื่อเจริญถึงปัญจมฌานแล้ว องค์ฌานก็จะเปลี่ยนจากสุขเป็นอุเบกขา)
    ๕. เอกัคคตา หมายถึง ความตั้งมั่นในอารมณ์ ผู้ที่ได้เข้าถึงปฐมฌานนั้นจะต้องมีองค์ฌาน ๕ เกิดขึ้นในจิต ซึ่งเป็นอาการในจิตเองหรือว่าเป็นเจตสิกต่างๆ ที่ทำหน้าที่รวมกันอยู่ เรียกว่าตั้งมั่นในอารมณ์เดียว จะมีองค์ฌาน ๕ คือ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา ฌานที่ ๒ ก็เหลือเพียงวิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา ฌานที่ ๓ มีแต่ปีติ สุข เอกัคคตา ฌานที่ ๔ มีแต่สุขกับเอกัคคตา ฌานที่ ๕ ก็มีองค์ฌาน ๒ เหมือนกันแต่เปลี่ยนจากสุขเป็นอุเบกขา คือความวางเฉย ตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์เดียว สุดยอดของการเจริญรูปฌานได้แค่นั้น ได้แค่อุเบกขา เอกัคคตา ได้แค่ปัญจมฌาน

รูปฌานแบ่งตามระดับปัญญา แบ่งออกเป็น ๒ นัย คือ

รูปฌานแบ่งโดยปัญจกนัย มี ๕ (พระอภิธรรม)
๑. ปฐมฌาน มีองค์ ๕ คือ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา 
๒. ทุติยฌาน มีองค์ ๔ คือ วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา 
๓. ตติยฌาน มีองค์ ๓ คือ ปีติ สุข เอกัคคตา 
๔. จตุตถฌาน มีองค์ ๒ คือ สุข เอกัคคตา ๔. อุเบกขา เอกัคคตา
๕. ปัญจมฌาน มีองค์ ๒ คือ อุเบกขา เอกัคคตา

รูปฌานแบ่งโดยจตุกกนัย มี ๔ (พระสูตร)
๑. วิตก วิจาร ปีติสุข เอกัคคตา
๒. ปีติสุข เอกัคคตา
๓. สุข เอกัคคตา
๔. อุเบกขา เอกัคคตา

นั่นก็หมายถึงว่าการปฏิบัติของแต่ละท่านนั้นมีสติปัญญาต่างกัน บางท่านปัญญาน้อยก็จะละองค์ฌานไปทีละอย่าง (โดยปัญจกนัย) ปฐมฌานมีวิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา พอขึ้นฌานที่ ๒ ก็ละวิตกเหลือองค์ฌาน ๔ แต่สำหรับผู้ที่มีปัญญามาก (โดยจตุตกนัย) จะละทีเดียว ๒ คือเมื่อขึ้นฌานที่ ๒ ก็สามารถละวิตกวิจารได้พร้อมกัน ทำให้ฌานที่ ๒ เหลือองค์ฌานเพียง ปีติ สุข เอกัคคตา ฌานที่ ๓ เหลือองค์ฌาน คือ สุข เอกัคคตา ฌานที่ ๔ ก็มีองค์ฌาน คือ อุเบกขา เอกัคคตา

ฉะนั้นฌานสมาบัติ ๘ นับโดยจตุกกนัย หรือ ฌานสมาบัติ ๙ นับโดยปัญจกนัย นี้คือผลของการเจริญสมถกรรมฐาน ส่วน ผลอย่างอื่นของการเจริญสมถกรรมฐานที่จะเกิดขึ้นได้ คือ อภิญญา

อธิบายองค์ฌาน ๕ เพิ่มเติม วิตกและวิจาร

วิตก คือ การหมายรู้อารมณ์ การคิด ความเป็นผู้ตั้งมั่น การนึกตามและการปรารถนาถูกต้อง ลักษณะของวิตก คือ การตรึก สำหรับผู้เพ่งปฐวีกสิณและใส่ใจในปฐวีนิมิตอย่างดี อย่างสม่ำเสมอ อย่างไม่มีที่สุด เหล่านี้คือลักษณะของวิตกนั่นเอง เปรียบได้กับการท่องจำบทสวดมนต์

วิจาร คือ เมื่อผู้ปฏิบัติใช้วิจาร จิตดำรงอยู่ในความไม่ยินดียินร้ายต่อสิ่งที่วิจารนั้นกำลังใคร่ครวญ สภาวะนี้ เรียกว่า วิจาร ผู้ปฏิบัติสมถกรรมฐานที่เพ่งปฐวีกสิณ ใส่ใจอาการหลายอย่างที่จิตของเขาหยั่งเห็นในขณะที่เพ่งปฐวีนิมิตนี้เรียกว่า วิจาร ลักษณะของวิจาร คือ การไตร่ตรองหลังการพิจารณา

ความต่างกันของวิตกและวิจาร
จากลักษณะของวิตกและวิจาร จะเห็นว่ามีความใกล้เคียงกันมาก อาจจะทำให้เข้าใจได้ยากว่าลักษณะอย่างไรคือวิตกหรือวิจาร ความต่างกันของวิตกวิจารก็มีอุปมาเปรียบเทียบดังนี้

ปีติ คือ ในขณะที่จิตมีความเอิบอิ่มสบายอย่างเหลือเกินประกอบด้วยความเย็นสนิท ลักษณะของปีติ คือ ความเพียบพร้อมด้วยความเอิบอิ่ม ปีติมีหลายประการโดยนัย ๖ และโดยนัย ๕

ปีติมี ๖ ประการ คือ
๑) ปีติเกิดจากราคะ ความอิ่มใจ เพราะความชอบ หลงใหล และความอิ่มใจที่ประกอบด้วยกิเลส
๒) ปีติเกิดจากศรัทธา ความอิ่มใจ ของบุคคลผู้มีศรัทธาอย่างแรงกล้า
๓) ปีติเกิดจากความไม่ดื้อด้าน ความอิ่มใจ อย่างยิ่งของคนดี มีใจบริสุทธิ์
๔) ปีติเกิดจากวิเวก ความอิ่มใจ ของบุคคลผู้เข้าปฐมฌาน
๕) ปีติเกิดจากสมาธิ ความอิ่มใจ ของบุคคลผู้เข้าทุติยฌาน
๖) ปีติเกิดจากโพชฌงค์ ความอิ่มใจ ที่เกิดจากการดำเนินตามโลกุตตรมรรคในทุติยฌาน

ปีติมี ๕ ประการ คือ
๑) ขุททกาปีติ ปีติเล็กน้อย เปรียบเหมือนการที่ขนตามร่างกายตั้งชันขึ้นเมื่อถูกละอองน้ำฝน
๒) ขณิกาปีติ ปีติชั่วขณะ เป็นปีติที่เกิดขึ้นและดับไปทันที เปรียบเหมือนละอองน้ำในเวลากลางคืน
๓) โอกกันติกาปีติ ปีติเป็นระลอก เป็นปีติที่เกิดขึ้นกระทบกายแล้วหายไป กระทบกายแล้วหายไป เปรียบเหมือนลูกคลื่นกระทบฝั่ง
๔) อุพเพงคาปีติ ปีติโลดโผน เป็นปีติที่มีกำลังมาก ทำกายให้ลอยขึ้นได้ ถึงขนาดทำให้ลอยไปบนอากาศก็ได้
๕) ผรณาปีติ ปีติซาบซ่าน เป็นปีติที่แผ่ไปทั่วร่างกาย เหมือนก้อนเมฆหนาทึบที่เต็มไปด้วยเม็ดฝน

ฉะนั้น ขุททกาปีติและขณิกาปีติ สามารถเข้าถึงได้ด้วยศรัทธา โอกกันติกาปีติที่มีมากย่อมทำอุปจารสมาธิให้เกิดขึ้น อุพเพงคาปีติที่ยึดอยู่กับดวงกสิณทำให้ทั้งกุศลและอกุศลเกิดขึ้น และขึ้นอยู่กับความเชี่ยวชาญ ผรณาปีติอันบุคคลทำให้เกิดขึ้นในสภาวะแห่งอัปปนาสมาธิ

สุข คือ ลักษณะการประสบสิ่งน่ารักน่าชอบใจ รสของสุขก็เป็นลักษณะของสุข ภาวะที่ขึ้นอยู่กับอารมณ์อันน่าพอใจนี้เป็นรสอันพึงประสงค์ของสุข สุขมี ๕ ชนิด คือ
๑) สเหตุกสุข คือสุขตามนัยแห่งคำสอนของพระพุทธเจ้าว่า “สุขอันเกิดจากคุณความดี ย่อมยั่งยืน” หมายถึง สุขที่เกิดจากผลของบุญกุศล 
๒) มูลิกสุข คือสุขตามนัยแห่งคำสอนของพระพุทธเจ้าว่า “พระพุทธเจ้าทำให้เกิดสุขขึ้นในโลก”
๓) วิเวกสุข เป็นพัฒนาการแห่งตัตรมัชฌัตตตา และการขจัดกิเลสของฌาน
๔) นิกกิเลสสุข คือสุขตามนัยแห่งคำสอนของพระพุทธเจ้าว่า “ นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง ”
๕) สุขวิหาร เป็นความสุขเกิดจากการอยู่ หมายถึง สุขวิหารเป็นสุขที่ควรเสวยความต่างกันของ ปีติ และ สุข


เอกัคคตา 
คือ ความที่จิตมีอารมณ์เลิศเป็นหนึ่ง ตั้งมั่น ไม่ฟุ้งซ่านซัดส่าย ความตั้งอยู่แห่งจิต เหมือนการตั้งอยู่แห่งเปลวประทีปทั้งหลายที่ปราศจากลม ฉะนั้น

ความหมายของนิวรณ์ ๕ 
นิวรณ์คือสิ่งที่ขวางกั้นจิตทำให้สมาธิไม่อาจเกิดขึ้นได้ นิวรณ์มี ๕ อย่าง คือ
    ๑. กามฉันทะ คือความยินดี พอใจ เพลิดเพลินในกามคุณอารมณ์ ได้แก่ ความยินดี พอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ(สิ่งสัมผัสทางกาย) อันน่ายินดี น่ารักใคร่พอใจ รวมทั้งความคิดอันเกี่ยวเนื่องด้วยรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะนั้น (คำว่ากามในทางธรรมนั้น ไม่ได้หมายถึงเรื่องเพศเท่านั้น)
    ๒. พยาปาทะ คือ ความโกรธ ความพยาบาท ความไม่พอใจ ขัดเคืองใจ
    ๓. ถีนมิทธะ แยกเป็นถีนะ คือ ความหดหู่ท้อถอย และ มิทธะ คือ ความง่วงเหงาหาวนอน ถีนะและมิทธะนั้นมีอาการแสดงออกที่คล้ายกันมาก คือทำให้เกิดอาการเซื่องซึมเหมือนกัน แต่มีสาเหตุที่ต่างกันคือ ถีนะเป็นกิเลสชนิดหนึ่ง เกิดจากการปรุงแต่งของจิต ทำให้เกิดความย่อท้อ เบื่อหน่าย ไม่มีกำลังที่จะทำความเพียรต่อไป ส่วนมิทธะนั้นเกิดจากความเมื่อยล้าอ่อนเพลียของร่างกาย หรือจิตใจจริงๆ เนื่องจากตรากตรำมามาก หรือขาดการพักผ่อนที่เพียงพอ หรือการรับประทานอาหารที่มากเกินไป
    ๔. อุทธัจจกุกกุจจะ แยกเป็นอุทธัจจะคือความฟุ้งซ่านของจิต และ กุกกุจจะ คือ ความรำคาญใจ อุทธัจจะนั้นคือการที่จิตไม่สามารถยึดอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้เป็นเวลานาน จึงเกิดอาการฟุ้งซ่านเลื่อนลอยไปเรื่องนั้นทีเรื่องนี้ที ส่วนกุกกุจจะนั้นเกิดจากความกังวลใจ หรือไม่สบายใจถึงอกุศลที่ได้ทำไปแล้วในอดีต ว่าไม่น่าทำไปอย่างนั้นเลย หรือบุญกุศลต่างๆ ที่ควรทำแต่ยังไม่ได้ทำ ก็จะคิดกังวลไป
    ๕. วิจิกิจฉา คือ ความลังเลสงสัย ไม่แน่ใจ คือ สงสัยในเรื่องกรรมและผลของกรรม สงสัยว่าบุญบาปมีจริงหรือไม่ นรกสวรรค์มีจริงหรือไม่ ตายแล้วไปไหน ชาติหน้ามีจริงหรือไม่ ตลอดจนสงสัยในข้อปฏิบัติ ทำให้จิตไม่อาจมุ่งมั่นในอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งได้อย่างเต็มที่ สมาธิจึงไม่เกิดขึ้น

นิวรณ์ทั้ง ๕ เป็นอุปสรรคสำคัญในการเจริญสมาธิ ถ้านิวรณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือหลายอย่างเกิดขึ้น สมาธิก็ไม่อาจเกิดขึ้นได้ แต่นิวรณ์เป็นอารมณ์ของการเจริญวิปัสสนาได้ ถ้านิวรณ์เกิดขึ้นกับผู้เจริญวิปัสสนาและผู้นั้นมีสติรู้เท่าทัน สติจะเป็นปัจจัยให้เกิดปัญญาในการรู้เท่าทัน ธรรมชาติของนิวรณ์เหล่านั้น เพราะการเจริญวิปัสสนานั้นเป็นการเรียนรู้ธรรมชาติของสรรพสิ่ง (ซึ่งนิวรณ์ทั้ง ๕ ก็จัดเป็นธรรมชาติอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นได้) เพื่อให้เห็นถึงสภาวะความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่อยู่ในอำนาจของจิต เมื่อทราบธรรมชาติตามความเป็นจริงแล้ว ปัญญาในวิปัสสนาก็เกิดขึ้นได้โดยอาศัยการโยนิโสมนสิการเพื่อให้รู้เท่าทันในสภาวะของนิวรณ์ทั้ง ๕ 

ผู้ที่เจริญสมถกรรมฐานจนสำเร็จฌาน เป็นเพียงการทำความพ้นออก สลัดออกจากกามและอกุศล
ธรรมทั้งปวงให้สงบระงับ ข่มนิวรณ์ธรรมทั้งหลายให้สงบลงได้เท่านั้น แต่ยังไม่สามารถประหาณนิวรณธรรม เพราะไม่ได้ทำลายรากเหง้าของกามและอกุศลธรรมเหล่านั้นลงไปได้ แต่สำหรับผู้ที่เจริญวิปัสสนาจนมรรคจิตเกิดขึ้น มรรคจิตจะทำหน้าที่ตัดขาดรากเหง้าของกิเลสทั้งหลายโดยสิ้นเชิง

วิธีแก้ไขนิวรณ์ ๕
๑. กามฉันทะ แก้ได้หลายวิธีตามลักษณะของกามฉันทะที่เกิดขึ้น ดังนี้
    ๑.๑ พิจารณาถึงความจริงที่ว่ากามคุณทั้งหลายนั้นมีสุขน้อยมีทุกข์มาก คือ ให้ความสุขในช่วงที่ได้มาใหม่ ๆ ซึ่งเป็นเสมือนเหยื่อล่อให้ติด ครั้นเมื่อติดในสิ่งนั้นๆ แล้ว ความทุกข์ทั้งหลายก็จะตามมา ถ้ายิ่งถูกใจมากเท่าใด ก็จะยิ่งนำความทุกข์มาให้มากขึ้นเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นทุกข์จากการแสวงหาเพื่อให้ได้มากยิ่งขึ้น ทุกข์จากการพยายามรักษาสิ่งนั้นเอาไว้ ทุกข์จากความหวงแหน ความกลัวว่าจะต้องสูญเสียสิ่งนั้นไป และเมื่อต้องสูญเสียสิ่งนั้นไป ก็จะยิ่งเป็นทุกข์ยิ่งขึ้นไปอีก เพราะเราทั้งหลายล้วนจะต้องพลัดพรากจากสิ่งที่เป็นที่รักที่พอใจ ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น
    ๑.๒ พิจารณาว่าสิ่งทั้งหลายมีความแปรปรวนไปตลอดเวลา สิ่งที่ให้ความสุขในวันนี้ก็อาจจะนำความทุกข์มาให้ได้ในวันข้างหน้า เช่น คนที่ทำดีกับเราในวันนี้ ต่อไปถ้าเขาเบื่อ หรือไม่พอใจอะไรเราขึ้นมา เขาก็อาจจะร้ายกับเราอย่างมากก็ได้
    ๑.๓ พิจารณาถึงความเป็นอสุภะ คือ เป็นของไม่สวยไม่งาม เต็มไปด้วยของไม่สะอาด ร่างกายที่เห็นว่าสวยงามในตอนนี้ จะคงสภาพอยู่ได้นานสักเท่าใด พอแก่ตัวขึ้นก็ย่อมจะหย่อนยาน เหี่ยวย่นไม่น่าดู ถึงแม้ในตอนนี้เอง ก็เต็มไปด้วยของสกปรกไปทั้งตัว ตั้งแต่เส้นผมจรดปลายเท้า ถ้าถึงเวลาที่กลายสภาพเป็นซากศพแล้วจะมีสภาพอย่างไร
    ๑.๔ พิจารณาถึงคุณของการออกจากกามหรือประโยชน์ของสมาธิ เช่น เป็นความสุขที่ประณีต ละเอียดอ่อน เบาสบายไม่หนักอึ้งเหมือนกาม คนที่ได้สัมผัสกับความสุขจากสมาธิสักครั้ง ก็จะรู้ได้เองว่าเหนือกว่าความสุขจากกามมากเพียงใดเป็นความสุขที่ไม่ต้องแสวงหาจากภายนอก เพราะเกิดจากความสงบภายใน จึงไม่ต้องมีการแย่งชิง ไม่ต้องยื้อแย่งแข่งขัน ไม่ต้องกลัวถูกลักขโมย เป็นความสุขที่ไม่ต้องมีวัตถุใดๆ มาเป็นเครื่องล่อ จึงไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น

๒. พยาปาทะ แก้ได้หลายวิธีตามลักษณะของพยาปาทะที่เกิดขึ้น ดังนี้
    ๒.๑ พิจารณาถึงคุณของการให้อภัย ว่าอภัยทานนั้นเป็นบุญอันยิ่งใหญ่ เป็นการทำบุญโดยไม่ต้องเสียอะไรเลย มองโลกในแง่ดีให้เห็นว่าคนที่ทำให้เราไม่พอใจนั้นเขาคงไม่ได้ตั้งใจ เขาอาจจะทำไปเพราะรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือเข้าใจผิด หรือถูกเหตุการณ์บังคับ ถ้าเขารู้หรือว่าเขาเลือกได้ เขาคงไม่ทำอย่างนั้น หรือคิดถึงหลักความจริงที่ว่า คนเราเมื่ออยู่ใกล้กัน ก็ย่อมมีโอกาสที่จะทำในสิ่งที่ไม่ถูกใจคนอื่นได้เป็นครั้งคราวอยู่แล้ว เพราะคงไม่มีใครสามารถทำให้ถูกใจคนอื่นได้ตลอดเวลา แม้ตัวเราเองก็ยังเคยทำให้คนอื่นไม่พอใจเช่นกัน เพราะฉะนั้น เมื่อคนอื่นทำไม่ถูกใจเราบ้าง ก็ย่อมจะเป็นเรื่องธรรมดา ไม่ควรจะถือโทษโกรธกัน หรือ คิดเสียว่าเป็นการฝึกจิตของตัวเราเองให้เข้มแข็งขึ้น โดยการพยายามเอาชนะใจตนเองเอาชนะความโกรธ และขอบคุณผู้ที่ทำให้เราโกรธที่ให้โอกาสในการฝึกจิตแก่เรา ให้เราได้สร้างและเพิ่มพูนขันติบารมี
    ๒.๒ พิจารณาเรื่องกฎแห่งกรรม ว่าสัตว์โลกมีกรรมเป็นของๆ ตน ใครสร้างกรรมอันใดไว้ ย่อมต้องรับผลกรรมนั้นๆ สืบไป การที่เราเจอเหตุการณ์ที่ไม่ดีในครั้งนี้ ก็คงเป็นเพราะกรรมเก่าที่เราได้ทำเอาไว้ สำหรับคนที่ทำไม่ดีกับเราในครั้งนี้นั้น เขาก็จะได้รับผลกรรมนั้นเองในวันข้างหน้าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
    ๒.๓ พิจารณาโทษของความโกรธ คนที่โกรธก็เหมือนกับจุดไฟเผาตัวเอง ทำให้ต้องเป็นทุกข์เร่าร้อน หน้าตาก็ไม่น่าดู แถมยังเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจอีกด้วย เพราะฉะนั้นก็มีแต่คนโง่ กับคนบ้าเท่านั้นที่ผูกโกรธเอาไว้ แผ่เมตตาให้กับคนที่เราโกรธ ถ้าทำได้นอกจากจะดับทุกข์จากความโกรธได้แล้วยังทำให้มีความสุขจากการแผ่เมตตานั้นอีก และยังจะเป็นการพัฒนาจิตให้สูงขึ้นไปด้วย

๓. ถีนมิทธะ
    ๓.๑ ถีนะ คือ ความหดหู่ท้อถอย แก้โดยพิจารณาถึงโทษของกามและคุณของสมาธิ เพื่อทำให้เกิดความเพียร ในการปฏิบัติให้พ้นจากโทษของกามเหล่านั้น คบหากับคนที่มีความเพียร ฝักใฝ่ยินดีในการทำสมาธิ หลีกเว้นจากคนที่ไม่ชอบเจริญสมาธิ หรือคนที่เบื่อหน่ายในสมาธิ
    ๓.๒ มิทธะ คือ ความง่วงเหงาหาวนอน มีวิธีแก้หลายวิธีดังที่พระพุทธเจ้าตรัสแก่พระโมคคัลลานะ สรุปได้เป็นขั้นๆ ดังนี้

  • เพ่งสิ่งนั้นให้มาก หรือให้หนักแน่นขึ้นไปอีกก็จะทำให้หายง่วงได้
  • พิจารณาธรรมที่ได้อ่านหรือได้ฟังโดยนึกในใจ ถ้ายังไม่หายง่วงให้สาธยายธรรมนั้น อาจจะออกเสียงด้วย(ให้พิจารณาถึงความเหมาะสมด้วย ถ้าสถานที่ปฏิบัติใดไม่เหมาะสมที่จะสาธยายโดยการออกเสียงก็ควรงดเสีย)
  • ยอนช่องหูทั้งสองข้าง(เอานิ้วไชเข้าไปในรูหู) เอามือลูบตัว
  • เอาน้ำล้างหน้าล้างตา เหลียวดูทิศทั้งหลาย
  • ให้ทำในใจถึงอาโลกสัญญา (นึกถึงแสงสว่าง) คิดว่ากลางคืนอย่างไรกลางวันอย่างนั้น ทำความรู้สึกเหมือนกับว่า กลางคืนนั้นสว่างราวกับเป็นกลางวัน
  • เดินกลับไปกลับมา สำรวมอินทรีย์ มีใจไม่คิดไปในภายนอก (ควรเดินเร็วๆ ให้หายง่วง)
  • ให้สำเร็จสีหไสยาสน์ คือ นอนตะแคงเบื้องขวา ซ้อนเท้าเหลื่อมเท้า มีสติสัมปชัญญะ โดยบอกกับตัวเองว่าทันทีที่รู้สึกตัวตื่นแล้ว จะรีบลุกขึ้นทันที ด้วยตั้งใจว่าเราจักไม่ประกอบความสุขในการนอน ความสุขในการเอนข้าง ความสุขในการเคลิ้มหลับ 

ผู้ปฏิบัติควรแก้ไขความง่วงในวิธีการนับตั้งแต่ข้อต้นๆ มาเป็นลำดับก่อน มิใช่ว่าเมื่อง่วงเมื่อไรก็เลือกวิธีแก้ง่วงในข้อสุดท้าย คือ การสำเร็จสีหไสยาสน์ 

๔. อุทธัจจกุกกุจจะ
    ๔.๑ อุทธัจจะ คือ ความฟุ้งซ่านของจิต แก้ไขโดยทำใจให้สบาย อย่ามุ่งมั่นมากเกินไปจนเครียด จะทำให้ฟุ้งซ่านหนักขึ้น อย่าหวัง อย่ากำหนดกฎเกณฑ์ว่าวันนี้จะต้องได้อย่างนั้นอย่างนี้ ปล่อยวางให้มากที่สุด อย่าคิดบังคับให้สมาธิเกิด ยิ่งบีบแน่นมันจะยิ่งทะลักออกมา ยิ่งฟุ้งไปกันใหญ่
    ๔.๒ กุกกุจจะ คือ ความรำคาญใจ แก้ได้โดยพยายามปล่อยวางในสิ่งนั้นๆ โดยคิดว่าอดีตก็ผ่านไปแล้ว คิดมากไปก็เท่านั้นอนาคตก็ยังมาไม่ถึง ทำปัจจุบันให้ดีที่สุดดีกว่า ขณะนี้เป็นเวลาทำกรรมฐาน เพราะฉะนั้นอย่างอื่นพักไว้ก่อน ยังไม่ถึงเวลาคิดเรื่องเหล่านั้น ถ้าแก้ไม่หายจริงๆก็ไปจัดการเรื่องเหล่านั้นให้เรียบร้อย แล้วถึงกลับมาเจริญกรรมฐานใหม่

๕. วิจิกิจฉา แก้ไขได้โดย
    ๕.๑ พยายามศึกษาหาความรู้ในข้อปฏิบัติที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติไว้ให้เข้าใจโดยละเอียด
    ๕.๒ ทดลองปฏิบัติตามที่ได้ศึกษามาอย่างดีอย่างถูกต้อง เพื่อทดสอบว่าข้อปฏิบัติใดเหมาะสมกับจริตของตน

บุคคลผู้เจริญสมถกรรมฐาน เมื่อได้ปฏิบัติตามแนวทางที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติไว้แล้วนั้น ย่อมข่มนิวรณธรรมได้บรรลุปฐมฌานที่ประกอบด้วยองค์ฌาน ๕ คือ วิตก วิจาร ปีตี สุข เอกัคคตา 

ผลแห่งการบำเพ็ญปฐมฌาน
ย่อมยังให้บุคคลไปเกิดในปฐมฌานภูมิ ๓ คือ
ปฐมฌานอย่างต่ำ 
หลังจากตาย จะบังเกิดในพรหมโลกชั้นปาริสัชชา มีอายุประมาณ ๑/๓ วิวัฏฏฐายีอสงไขยกัป
ปฐมฌาน
อย่างกลาง หลังจากตาย จะบังเกิดในพรหมโลกชั้นปุโรหิตา มีอายุประมาณ ๑/๒ วิวัฏฏฐายีอสงไขยกัป
ปฐมฌานอย่างสูง หลังจากตายจะบังเกิดในพรหมชั้นมหาพรหมา มีอายุประมาณ ๑ วิวัฏฏฐายีอสงไขยกัป

ทุติยฌาน ผู้ปฏิบัติเมื่อบรรลุปฐมฌานแล้ว วิธีที่จะได้ทุติยฌาน คือ ต้องเห็นโทษของปฐมฌาน และเห็นคุณหรืออานิสงส์ของทุติยฌาน จึงจะเป็นผู้ที่ดำเนินไปสู่ทุติยฌานได้ ถ้าผู้ที่ยังไม่ได้ปฐมฌานเลย แต่ปรารถนาจะบรรลุทุติยฌาน ถึงแม้ว่าเขาจะทราบว่าการละวิตก และวิจารได้ก็จะเป็นผู้บรรลุทุติยฌานและพยายามที่จะละวิตกและวิจาร ผู้ที่ปฏิบัติอย่างนี้ถึงแม้ว่าทำจนตายก็ไม่มีทางสำเร็จ

การเข้าทุติยฌาน ต้องฝึกฝนปฐมฌานอย่างสม่ำเสมอ อย่างต่อเนื่อง อย่างคล่องแคล่ว โดยการเข้าฌาน ออกจากฌาน เมื่อฝึกจนคล่องแคล่วชำนาญ ก็พึงระลึกว่า “ปฐมฌานนี้ ยังหยาบ ทุติยฌานละเอียด ” และพิจารณาเห็นโทษของปฐมฌาน พิจารณาอานิสงส์ของทุติยฌานและโทษของปฐมฌาน ก็คือ นิวรณ์ที่เป็นศัตรูใกล้ชิดกับวิตกและวิจาร วิตกและวิจารนี้เป็นเหตุทำให้ร่างกายเฉื่อยชาและจิตฟุ้งซ่านรำคาญ เพราะเหตุนั้นสมาธิจึงหยาบและไม่สามารถให้ความรู้ขั้นสูงเกิดขึ้นได้ เมื่อเห็นโทษของปฐมฌาน และอานิสงส์ของทุติยฌานอย่างนี้จึงจะก้าวไปสู่ความสำเร็จขั้นทุติยฌานต่อไป เมื่อจิตคิดที่จะพ้นไปจากปฐมฌาน และยึดเอากสิณนิมิตเป็นต้น ไว้เป็นอารมณ์ของทุติยฌาน เพ่งอยู่ในอารมณ์นั้น จิตที่ปราศจากวิตกและวิจาร มีความสบายเพราะปีติและสุขอันเกิดจากสมาธิย่อมบรรลุทุติยฌาน ถ้าผู้ปฏิบัติพากเพียรให้มาก ก็ย่อมจะละวิตกและวิจารได้อย่างรวดเร็ว จะอยู่สบายในปีติและสุขอันเกิดจากสมาธิ และทำให้จิตอยู่อย่างสงบ

ผลแห่งการบำเพ็ญทุติยฌาน ย่อมยังให้บุคคลไปเกิดในทุติยฌานภูมิ ๓ คือ
ทุติยฌานอย่างต่ำ 
หลังจากตายจะบังเกิดในพรหมโลกชั้นปริตตาภา มีอายุประมาณ ๒ มหากัป
ทุติยฌานอย่างกลาง 
หลังจากตายจะบังเกิดในพรหมโลกชั้นอัปปมาณาภา มีอายุประมาณ ๔ มหากัป
ทุติยฌานอย่างสูง 
หลังจากตายจะบังเกิดในพรหมโลกชั้นอาภัสสรา มีอายุประมาณ ๘ มหากัป

ตติยฌาน ผู้ปฏิบัติเมื่อบรรลุทุติยฌานแล้ว วิธีที่จะได้ตติยฌาน คือ ต้องเห็นโทษของทุติยฌาน และ อานิสงส์ของตติยฌาน จึงจะเป็นผู้ที่ดำเนินไปสู่ตติยฌานได้ ผู้ปฏิบัติต้องฝึกฝนในทุติยฌานอย่างสม่ำเสมอ อย่างต่อเนื่อง อย่างคล่องแคล่ว โดยการเข้าฌาน ออกจากฌาน เมื่อฝึกจนคล่องแคล่ว ชำนาญ ก็พึงระลึกว่า “ทุติยฌานนี้ ยังหยาบ ตติยฌานละเอียด ” พิจารณาเห็นโทษของทุติยฌาน อานิสงส์ของตติยฌานและโทษของทุติยฌาน ก็คือ ฌานนี้มีวิตกและวิจารเป็นเหตุใกล้ เพราะประกอบด้วยปีติจึงเป็นฌานหยาบ จิตยังยินดีในการเป็นเจ้าของปีติ และไม่สามารถทำองค์ฌานอื่น ๆ ให้เกิดขึ้นได้ การยึดติดปีติยังไม่ใช่สิ่งที่ดีที่สุดในการเจริญฌาน ผู้ปฏิบัติพึงพิจารณาอย่างนี้เพื่อจะทำให้ฌานจิตเลื่อนขั้น

ผลแห่งการบำเพ็ญตติยฌาน ย่อมยังให้บุคคลไปเกิดในตติยฌานภูมิ ๓ คือ
ตติยฌานอย่างต่ำ 
หลังจากตาย จะบังเกิดในพรหมโลกชั้นปริตตสุภา มีอายุประมาณ ๑๖ มหากัป
ตติยฌานอย่างกลาง 
หลังจากตาย จะบังเกิดในพรหมโลกชั้นอัปปมาณสุภา มีอายุประมาณ ๓๒ มหากัป
ตติยฌานอย่างสูง 
หลังจากตายจะบังเกิดในพรหมโลกชั้นสุภกิณหา มีอายุประมาณ ๖๔ มหากัป

จตุตถฌาน ผู้ปฏิบัติเมื่อบรรลุตติยฌานแล้ว วิธีที่จะได้จตุตถฌาน คือ ต้องเห็นโทษของตติยฌาน และ อานิสงส์ของจตุตถฌาน จึงจะเป็นผู้ที่ดำเนินไปสู่จตุตถฌานได้ ผู้ปฏิบัติต้องฝึกฝนในตติยฌานอย่างสม่ำเสมอ อย่างต่อเนื่อง อย่างคล่องแคล่ว โดยการเข้าฌาน ออกจากฌาน เมื่อฝึกจนคล่องแคล่ว ชำนาญ ก็พึงระลึกว่า “ตติยฌานนี้ ยังหยาบ จตุตถฌานละเอียด ” พิจารณาเห็นโทษของตติยฌาน อานิสงส์ของจตุตถฌานและโทษของตติยฌาน ก็คือ ปีติเป็นศัตรูที่อยู่ใกล้ สัมมาสมาธิพร้อมด้วยสุข ยังเป็นธรรมชาติหยาบ และเพียงตติยฌานนี้ไม่สามารถบรรลุถึง อภิญญาได้ เมื่อรู้ในโทษของตติยฌาน และอานิสงส์ของจตุตถฌานแล้ว ย่อมเจริญกสิณนิมิตและกำจัดสุข หลังจากที่กำจัดสุขแล้ว จิตจึงประกอบด้วยอุเบกขา จิตของเธอผู้บำเพ็ญอย่างนั้น ย่อมบรรลุอัปปนาสมาธิเนื่องด้วยอุเบกขา

ผลแห่งการบำเพ็ญจตุตถฌาน หลังจากตายไปย่อมเกิดในพรหมโลกชั้นเวหัปผลามีอายุประมาณ ๕๐๐ มหากัป (ถ้าจิตของผู้ปฏิบัติไม่ชอบความเพียรก็จะไปบังเกิดในพรหมโลกชั้นอสัญญีสัตว์มีอายุประมาณ ๕๐๐ มหากัป *) ถ้าผู้ปฏิบัติเป็นผู้สำเร็จมรรคในอนาคามีมรรคด้วยแล้วก็จะไปเกิดในสุทธาวาส ๕

เพราะเหตุไร ฌานระดับต่ำ กลาง สูง ในจตุตฌานนี้จึงไม่มี ? เพราะว่า มีความแตกต่างระหว่างฌานที่หยาบและละเอียดอยู่ในฌานตั้งแต่ระดับปฐมฌานถึงตติยฌาน แต่ในจตุตฌานนี้ไม่มีแล้ว

(🔎* ในอสัญญีสัตว์ โดยนัยแห่งคัมภีร์วิมุตติมรรคกล่าวไว้ว่า “........ถ้าจิตของผู้ปฏิบัติไม่ชอบความเพียรก็จะไปบังเกิดในพรหมโลกชั้นอสัญญีสัตว์” โดยนัยแห่งคัมภีร์ปฏิสัมภิทามรรคกล่าวไว้ว่า “...จริงอยู่เมื่อพระพุทธเจ้ายังมิได้เสด็จอุบัติขึ้น พวกที่บวชเป็นเดียรถีย์ทำบริกรรมในวาโยกสิณ ยังจตุตถฌานให้เกิดขึ้น ออกจากฌานนั้นแล้วก็เห็นว่าจิตนี้เป็นของน่าติเตียนมาก ความไม่มีจิตเสียเลย เป็นการดี. เพราะทุกข์ มีการฆ่าและจองจำเป็นต้น ย่อมเกิดขึ้นเพราะอาศัยจิต, เมื่อไม่มีจิตทุกข์นั้นก็ย่อมไม่มี เพราะฉะนั้นจึงเกิดความยินดีพอใจ ฌานไม่เสื่อมทำกาละแล้วเกิดในอสัญญีภพ. ผู้ใดตั้งอยู่ในอิริยาบถใดในมนุษย์ ผู้นั้นก็ย่อมเกิดด้วยอิริยาบถนั้นสถิตอยู่ตลอด ๕๐๐ กัป. เป็นเหมือนนอน นั่ง หรือยืน ตลอดกาลยาวนานมีประมาณเพียงนั้น.”)


อรูปฌาน แบ่งเป็น 
๑. อากาสานัญจายตนฌาน ฌานลีภาบุคคลเมื่อได้รับสุขที่ไม่มีที่สิ้นสุดในจตุตถฌาน แล้วปรารถนาที่จะบรรลุฌานที่สูงขึ้นไปอีก คือ อากาสานัญจายตนฌาน ก้าวพ้นวิสัยแห่งรูป และพิจารณาว่า “ รูปฌานยังเป็นธรรมหยาบ อากาสานัญจายตนฌานเป็นธรรมละเอียด ” พึงพิจารณาเห็น โทษของรูปฌาน เห็นอานิสงส์ของอากาสานัญจายตนฌาน และโทษของรูปฌาน เช่น การถูกเข่นฆ่า เบียดเบียน การทะเลาะ การส่อเสียด การพูดเท็จ ความบกพร่องของอวัยวะต่าง ๆ เป็นต้น โรคภัยไข้เจ็บที่เกิดจากรูป เห็นอานิสงส์ของอากาสานัญจายตนฌานแล้วข้ามพ้นจากฌานนั้น โดยละปฐวีกสิณปฐวีนิมิต เจริญอากาสานัญจายตนะ คือ การไม่เอารูปอันมีปฏิภาคนิมิตเป็นอารมณ์ แต่กลับไปเอาอากาศที่เพิกออกจากปฏิภาคนิมิตนั้นมาเป็นอารมณ์ โดยบริกรรมว่า “ อากาโส อนนฺโต ๆ ” คือ อากาศไม่มีที่สิ้นสุด ๆ จนจิตแนบแน่น อากานัญจายตนฌานจิตจึงเกิดขึ้น

ผลแห่งการเจริญอากาสานัญจายตนฌาน เมื่อตายจะได้ไปเกิดในอากาสานัญจายตนภูมิ มีอายุประมาณ ๒๐,๐๐๐ มหากัป

๒. วิญญาณัญจายตนฌาน ฌานลาภีบุคคลผู้มีความชำนาญในการเจริญอากาสานัญจายตนฌาน แล้วเห็นโทษของอากาสานัญจายตนฌานว่าเป็นธรรมหยาบ โทษของอากาสานัญจายตนฌาน คือ เป็นฌานที่มีศัตรูคือ รูปฌานอยู่ใกล้ อารมณ์ของอากาสานัญจายตนฌาน เป็นธรรมหยาบ ปฏิฆสัญญาและนานัตตสัญญา ยังไม่แยกจากกันเลยในฌานนี้ เนื่องจากความยึดมั่นถือมั่น ฌานลาภีบุคคลจึงไม่สามารถมีส่วนแห่งคุณวิเสสได้ เมื่อพิจารณาถึงโทษอย่างนี้แล้ว ก็คำนึงถึงอานิสงส์ของวิญญาณัญจายตนะ มองเห็นความละเอียดแห่งวิญญาณัญจายตนฌาน โดยกำหนดไปที่จิตที่พิจารณาอากาศที่เพิกกสิณไปนั้นแหละเป็นอารมณ์ เมื่อพิจารณาถึงคุณและโทษแล้ว ก็พึงพิจารณาวิญญาณัญจายตนะว่า “ สงบ” และใส่ใจถึงความเกิดขึ้นแห่งวิญญาณที่พิจารณาในอากาศที่ว่างนั้นโดยใส่ใจวิญญาณที่แผ่ไปยังอากาศนั้นบ่อย ๆ พิจารณาอย่างนี้จนจิตมั่นคงอยู่ในวิญญาณัญจายตนะ ไม่นานนักจิตย่อมข้ามพ้นจากอากาสานัญจายตนสัญญาและก้าวเข้าสู่วิญญาณัญจายตนะ

ผลแห่งการเจริญวิญญาณัญจายตนฌาน เมื่อตายจะไปบังเกิดในวิญญาณัญจายตนภูมิ มีอายุประมาณ ๔๐,๐๐๐ มหากัป

๓. อากิญจัญญายตนฌาน 
ฌานลาภีบุคคลผู้มีความชำนาญที่ได้ประพฤติมาแล้วในวิญญานัญจายตนฌาน เห็นโทษของวิญญาณัญจายตนฌานว่าเป็นธรรมหยาบ อากิญจัญญายตนฌานเป็นธรรมละเอียด โทษก็คือ วิญญาณัญจายตนฌานนี้ มีศัตรูคืออากาสานัญจายตนะอยู่ใกล้วิญญาณารมณ์เป็นธรรมหยาบ ในที่นี้

เนื่องจากความยึดมั่นถือมั่น จึงไม่สามารถมีส่วนในคุณวิเสสโดยพิจารณาอนันตสัญญาได้ อานิสงส์ของอากิญจัญญายตนะอยู่ที่การเอาชนะโทษเหล่านี้ เมื่อข้ามพ้นวิญญาณัญจายตนะอย่างสงบ ไม่ดำเนินไปตามวิญญาณนั้นอีก จึงเป็นผู้เห็นความหลุดพ้นของอากิญจัญญายตนะ ปรารถนาที่จะบรรลุอากิญจัญญายตนะจึงข้ามพ้นวิญญาณสัญญาทันที

ผลแห่งการเจริญอากิญจัญญายตนฌาน เมื่อตายจะไปบังเกิดในอากิญจัญญายตนภูมิ มีอายุประมาณ ๖๐,๐๐๐ มหากัป 

๔. เนวสัญญานาสัญญายตนะ ฌานลาภีบุคคลผู้พิจารณาเห็นโทษของอากิญจัญญายตนะว่าเป็นธรรมหยาบ เนวสัญญานาสัญญายตนะเป็นธรรมละเอียด โทษคือฌานนี้มีวิญญาณัญจายตนะอยู่ใกล้ ประกอบด้วยสัญญาที่หยาบเนื่องจากความยึดมั่นถือมั่น สัญญานี้เป็นดุจโรค เป็นดุจฝี เป็นดุจหนาม เนวสัญญานาสัญญายตนะนี้เป็นธรรมชอบ ธรรมละเอียด และประณีต เจริญในกรรมฐานอย่างนั้นแล้ว ก้าวล่วงอากิญจัญญายตนสัญญา ไม่นานนักย่อมบรรลุถึงเนวสัญญานาสัญญายตนะ

ผลแห่งการเจริญเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน เมื่อตายจะไปบังเกิดในเนวสัญญานาสัญญายตนภูมิ มีอายุประมาณ ๘๔,๐๐๐ มหากัป


💦สรุปอรูปฌานแบบย่อ

ผู้เจริญรูปฌานจนสำเร็จขั้นสุดท้ายของรูปฌานแล้ว ถ้าจะทำต่อขึ้นไปก็จะเป็นอรูปฌาน อารมณ์นั้นก็จะเพิกไปจากนิมิต จากกสิณ จากอารมณ์ที่เพ่งอยู่นั้น

อรูปฌานที่ ๑ อากาสานัญจายตนฌาน เพ่งอากาศที่ว่างจากกสิณนั้นเป็นอารมณ์เรียกว่ามีกสิณุ ฆาฏิมากาสบัญญัติเป็นอารมณ์
อรูปฌานที่ ๒ คือ วิญญาณัญจายตนฌาน ก็หันมาเอาจิต คือ อากาสานัญจายตนฌานจิตนั้นเป็นอารมณ์ในการเจริญวิญญาณัญจายตนะ
อรูปฌานที่ ๓ คือ อากิญจัญญายตนฌาน เพ่งนัตถิ -ภาวบัญญัติเป็นอารมณ์ คือความไม่มีอะไร ความว่างเปล่าเป็นอารมณ์ความว่างเปล่า หรือ ความไม่มีอะไรนี้เป็นบัญญัติชนิดหนึ่งเหมือนกัน ตรงนี้บางครั้งผู้ที่ปฏิบัติถึงระดับนี้ บางทีหลงไปว่าเป็นพระนิพพานแล้ว เพราะได้ยินได้ฟังว่านิพพานเป็นลักษณะที่ดับที่ว่างจากตัวตน พอรับนัตถิภาวบัญญัติ คือ ความไม่มีอะไรทั้งหมดเป็นอารมณ์ก็เลยนึกว่า นี่คือถึงนิพพานแล้ว แต่ความจริงยังเป็นบัญญัติชนิดหนึ่ง คือ ความไม่มีอะไร
อรูปฌานที่ ๔ คือ เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน ก็กลับมาเพ่งอากิญจัญญายตนฌานจิตเป็นอารมณ์ คือ ภาวะที่มีสัญญาก็ไม่ใช่ไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่ ผู้เจริญฌานจนสำเร็จก็ได้สุดยอดแค่นี้ เรียกว่าได้ฌานสมาบัติ ๙ นับโดยปัญจกนัย ถ้านับโดยจตุกกนัยก็เรียกว่า ฌานสมาบัติ ๘ จตุกกนัยก็หมายถึงว่านับรูปฌานแค่ ๔ คือคนที่ได้ถึงฌานที่ ๔ ก็จะมีอุเบกขากับเอกัคคตา

การเจริญสมถกรรมฐานที่ได้รับผลโดยตรงก็คือ จิตบรรลุฌานขั้นต่าง ๆ ผู้เจริญสมถกรรมฐานที่ยังไม่บรรลุผลสูงสุดจนได้ฌานแต่การปฏิบัติก็ทำให้สมาธิจิตเกิดขึ้น สัมมาสมาธิที่เกิดขึ้นนั้นมีประโยชน์มากมายถึงแม้ว่าจะยังไม่บรรลุในฌานขั้นต่าง ๆ ก็ตาม





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น