วันอาทิตย์

๕. อสุภะ ๑๐

 อสุภะ ๑๐

อสุภะ หมายถึง ไม่สวยงาม มุ่งหมายถึงความเปลี่ยนแปลงของร่างกายของคนที่ตายไป การเจริญอสุภกรรมฐานคือ การพิจารณาซากศพในลักษณะต่างๆกัน ๑๐ ลักษณะ ให้เห็นความน่าเกลียดไม่สวยงาม โดยจะพิจารณาซากศพอย่างหนึ่งอย่างใดก็ได้ใน ๑๐ ลักษณะ ได้แก่

๑. อุทธุมาตกะ ซากศพที่ขึ้นอืดพอง
๒. วินีลกะ ซากศพที่มีสีเขียวคล้ำ
๓. วิปุพพกะ ซากศพที่มีน้ำเหลือง แตกปริ
๔. วิจฉิททกะ ซากศพที่ถูกฟันขาดออกจากกันเป็น ๒ ท่อน 
๕. วิกขายิตกะ ซากศพที่ถูกสัตว์ เช่น สุนัข กา แร้ง ทึ้งแย่ง
๖. วิกขิตตกะ ซากศพที่กระจายเรี่ยราด ศีรษะ มือ เท้า อยู่คนละทาง 
๗. หตวิกขิตตกะ ซากศพที่ถูกสับฟันด้วยมีด ถูกแทงด้วยหอก
๘. โลหิตกะ ซากศพที่มีเลือดไหลอาบ
๙. ปุฬุวกะ ซากศพที่มีหนอนไชอยู่ทั่วร่าง
๑๐. อัฏฐิกะ ซากศพที่เหลือแต่กระดูก

การพิจารณาซากศพหรือเจริญอสุภกรรมฐานทุกชนิด ผู้ปฏิบัติต้องยืนอยู่เหนือลม อย่ายืนใต้ลม เพราะกลิ่นเน่าเหม็นของศพจะรบกวน หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ ควรใช้ผ้าปิดปากปิดจมูก อย่ายืนใกล้หรือไกลเกินไป ต้องยืนในระยะให้เห็นซากศพชัดเจนทั้งร่าง ควรยืนกลางลำตัวศพ อย่ายืน ด้านศีรษะหรือปลายเท้าของศพ ศพที่ใช้พิจารณาควรเป็นเพศเดียวกับผู้พิจารณา เช่น ผู้พิจารณาหรือเจริญอสุภกรรมฐานเป็นหญิง ก็ใช้ศพหญิง เป็นชายก็ใช้ศพชายในการพิจารณา นอกจากจะพิจารณาศพในแนววิปัสสนาจึงจะใช้ศพเพศใดก็ได้ เช่นในกรณีของพระกุลลเถระ ที่หลงรูปโฉมนางสิริมาหญิงงามเมือง

ครั้นนางสิริมาสิ้นชีวิตลง พระพุทธเจ้าทรงให้พระกุลลเถระผู้มีราคจริตพิจารณาศพของนางสิริมา ที่พระภิกษุหนุ่มหลงรักจนกินไม่ได้นอนไม่หลับ จนมองเห็นความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ถ่ายถอนความลุ่มหลงรักใคร่ได้ในที่สุด การเจริญอสุภกรรมฐาน เป็นไปได้ทั้งในแง่สมถกรรมฐาน และวิปัสสนา-กรรมฐาน หากเจริญในแง่สมถะ ก็ให้เห็นความเป็นสิ่งที่น่าเกลียดไม่สวยงาม ปฏิบัติแล้วทำให้ฌานเกิดขึ้นได้ ส่วนในแง่วิปัสสนาให้พิจารณาความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา หรือไตรลักษณ์ คือ ให้เห็นว่าตัวของเราก็เป็นสิ่งไม่เที่ยงเหมือนซากศพที่นอนอยู่ต่อหน้านั้นเช่นกัน เพียงแต่ศพนี้ ชายนี้ หญิงนี้ ตายก่อนเราเท่านั้น ชีวิตร่างกายของเราแม้จะผ่านทุกข์ทรมาน ได้รับความยากลำบากต่างๆนานามาเพียงใด ก็ไม่ทุกข์เท่าตอนที่จะตายร่างกายแตกดับ ในขณะนั้นจะทุกข์ที่สุด คือทุกข์จนทนอยู่ไม่ได้ต้องตายไปเช่นศพนี้

ดังพุทธดำรัสที่ว่า สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ และพิจารณาศพที่อยู่ตรงหน้าของเรานี้ว่า เมื่อศพนี้ยังมีชีวิตอยู่ เขาหรือเธอผู้นี้ไม่เคยปรารถนาที่จะตาย ไม่เคยต้องการจะเจ็บป่วยหรือแก่เฒ่า แต่ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ ต้องเป็นไปเช่นนี้ ใจปรารถนาแต่กายไม่เป็นไปตามความปรารถนา ไม่อาจบังคับบัญชาได้ เขาหรือเธอก็ไม่ใช่เจ้าของร่างกายนี้โดยแท้จริง เพราะหากเป็นเจ้าของร่างกายนี้ก็ต้องไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย ตามคำสั่งตามบัญชา แม้ร่างกายของเราเองก็ไม่อยู่ในบังคับบัญชาของเรา รูปนาม ทั้งหลายเป็นอนัตตา เมื่อสังขารร่างกายเป็นไปตามกฎไตรลักษณ์ คืออนิจจัง (ไม่เที่ยง) ทุกขัง (เป็นทุกข์) อนัตตา (ไม่ใช่ตัวตน) จะไปยึดมั่นถือมั่นได้อย่างไร

ส่วนการพิจารณาซากศพโดยนัยของสมถะต้องพิจารณาศพโดยอาการ ๖ และอาการ ๕

พิจารณาซากศพโดยอาการ ๖
๑. พิจารณาสี โดยกำหนดดูว่า ศพนี้เป็นคนผิวสีอะไร ดำ ขาว หรือผิวเหลือง
๒. พิจารณาวัย โดยกำหนดดูว่า ศพนี้เป็นเด็ก วัยกลางคนหรือคนชรา โดยไม่ต้องสนใจว่าเป็นเพศหญิงหรือเพศชาย
๓. พิจารณาสัณฐาน โดยกำหนดดูว่า นี่คือศีรษะ คอ แขน มือ ท้อง อก เอว แข้ง ขา เท้า เป็นต้น
๔. พิจารณาทิศ โดยกำหนดว่าตั้งแต่สะดือขึ้นไปจนถึงศีรษะเป็นส่วนบน จากใต้สะดือลงมาเป็นส่วนล่าง หรืออีกนัยหนึ่ง คือให้รู้ว่าเรายืนอยู่ทางทิศนี้ ซากศพอยู่ทางทิศนี้
๕. พิจารณาที่ตั้ง โดยกำหนดว่า มืออยู่ตรงนี้ เท้าอยู่ตรงนี้ ศีรษะอยู่ตรงนี้ เป็นต้น หรืออีกนัยหนึ่งให้รู้ว่าเรายืนอยู่ตรงนี้ ศพอยู่ตรงนั้น
๖. พิจารณาขอบเขต ให้รู้ว่าเบื้องต่ำสุดของซากศพคือพื้นเท้า เบื้องบนสุดเพียงปลายผม ทั่วตัวสุดแค่ผิวหนัง เต็มไปด้วยของเน่าเหม็น อย่าง เช่น ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เป็นต้น

พิจารณาโดยอาการ ๕
๑. ดูส่วนต่อหรือที่ต่อ ให้รู้ว่าในสรีระร่างของศพมีส่วนต่อใหญ่ๆอยู่ ๑๔ แห่ง คือมือขวามีที่ต่อ ๓ แห่ง มือซ้ายมีที่ต่อ ๓ แห่ง เท้าขวามีที่ต่อ ๓ แห่ง เท้าซ้ายมีที่ต่อ ๓ แห่ง คอมีที่ต่อ ๑ แห่ง และเอวมีที่ต่อ ๑ แห่ง
๒. ให้ดูช่อง เช่น ช่องตา ช่องหู ช่องจมูก ช่องปาก ศพหลับตาหรือลืมตา อ้าปากหรือหุบปาก
๓. ให้ดูหลุม หรือส่วนที่เว้าลงไป พิจารณาว่าเป็นหลุมตา หลุมคอ เป็นต้น
๔. ให้ดูที่ดอน หรือส่วนที่นูนขึ้น โดยให้กำหนดรู้ว่าส่วนนูนนี้ คือหัวเข่า คือหน้าผาก หน้าอก เป็นต้น
๕. ให้ดูทั่วไป รอบๆ ด้านของศพ ส่วนใดปรากฏชัดตามลักษณะของศพ เช่นความพองอืดปรากฏชัด ก็บริกรรมว่า อุทธุมาตกะ ปฏิกูละ ๆๆ (ศพพองอืดนี้น่าเกลียด น่าขยะแขยง) หรือเห็นศพที่มีสีเขียวคล้ำปรากฏชัด ก็บริกรรมว่า วินีลกะ ปฏิกูละ ๆ ๆ (ศพวินีลกะ หรือศพเขียวคล้ำนี้น่าเกลียด น่าขยะแขยง) ศพลักษณะอื่นๆ ก็เช่นเดียวกัน ในขณะบริกรรมก็ให้ตั้งจิตกำหนดลงที่ลักษณะตรงส่วนนั้นๆ ของศพ


วิธีการเจริญอสุภะ ๑๐

๑. อุทธุมาตกอสุภะ
พิจารณาความน่าเกลียดของศพว่าพองอืด พร้อมบริกรรมว่า อุทธุมาตกะ ปฏิกูละ ๆๆ (ศพที่พองอืดนี้ เป็นของน่าเกลียด น่าขยะแขยง) บริกรรมซ้ำแล้วซ้ำเล่า ลืมตาดูและหลับตาพิจารณาสลับไปเช่นนี้ ถ้าเมื่อใดหลับตาแล้วปรากฏภาพซากศพนั้น เหมือนเมื่อลืมตาก็จะได้อุคคห-นิมิต อุคคหนิมิตเป็น

นิมิตที่ปรากฏทางใจ จะเห็นเป็นซากศพที่น่าเกลียดน่ากลัว ชวนให้ขยะแขยงสะอิดสะเอียน เมื่อปฏิบัติต่อไปก็จะได้ปฏิภาคนิมิตปรากฏเป็นภาพคนอ้วนพีล่ำสันนอนนิ่งอยู่ ปฐมฌานก็จะเกิดขึ้น ศพที่ขึ้นอืดเป็นกรรมฐานที่หาเจริญได้ยากกว่าอสุภกรรมฐานอื่น ๆ เพราะศพที่พองอืดจะมีอาการพองเพียง ๑ หรือ ๒ วัน ก็จะแปรสภาพเป็นเขียวคล้ำ มีน้ำเหลืองไหลเยิ้มต่อไป หากขณะที่เจริญอุทธุมาตกอสุภะแล้วยังไม่ได้อุคคหนิมิต หรือปฏิภาคนิมิต แต่ศพแปรสภาพไปแล้วก็ต้องไปหาศพใหม่ที่พองอืด

๒. วินีลกอสุภะ
พิจารณาซากศพที่มีสีเขียวคล้ำ บริกรรมว่า วินีลกะ ปฏิกูละ ๆๆ (ศพที่มีสีเขียว น่าเกลียด น่าขยะแขยง) ซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนได้อุคคหนิมิตและปฏิภาคนิมิต อุคคหนิมิตของวินีลกอสุภะ คือลักษณะของศพมีสีเขียวคล้ำ ส่วนปฏิภาคนิมิตจะไม่น่าเกลียดน่ากลัว จะเหมือนรูปปั้นมีสีแดง สีขาว สีเขียวเจือกัน

๓. วิปุพพกอสุภะ
พิจารณาซากศพที่มีน้ำเหลืองแตกปริ บริกรรมว่า วิปุพพกะ ปฏิกูละ ๆๆ (ศพวิปุพพกะ มีน้ำเหลืองไหลนี้ น่าเกลียด น่าขยะแขยง) บริกรรมซ้ำๆ อุคคหนิมิตที่เกิดขึ้นจะเป็นเหมือนตัวศพนั้น ส่วนปฏิภาคนิมิตจะเป็นเหมือนรูปปั้นนอนนิ่งไม่มีน้ำเหลืองไหล

๔. วิจฉิททกอสุภะ
พิจารณาซากศพที่ถูกฟันขาดเป็น ๒ ท่อน ถ้าศพที่จะพิจารณานั้น กระเด็นอยู่ห่างกันเกินไปให้นำส่วนที่ขาดมาวางใกล้ให้ต่อกันห่างกันประมาณ ๑ องคุลี แล้วบริกรรมว่า วิจฉิททกะ ปฏิกูละๆๆ (ศพวิจฉิททกะ ถูกฟันขาด ๒ ท่อนนี้น่าเกลียด น่าขยะแขยง) อุคคหนิมิตปรากฏเป็นภาพศพขาด ๒ ท่อนนั่นเอง ส่วนปฏิภาคนิมิตจะเป็นศพสภาพเรียบร้อยนอนแน่นิ่งอยู่

๕. วิกขายิตกอสุภะ
พิจารณาซากศพที่ถูกสัตว์ทึ้งแย่งเรี่ยราด บริกรรมว่า วิกขายิตกะ ปฏิกูละ ๆๆ (ศพวิกขายิกตะนี้น่าเกลียด น่าขยะแขยง) อุคคหนิมิตที่เกิดขึ้นจะเหมือนที่พิจารณา ส่วนปฏิภาคนิมิตจะเป็นสภาพเหมือนกับรูปปั้นที่ใสสะอาด เรียบร้อย วางไว้นิ่งอยู่เป็นท่อนเดียวกัน

๖. วิกขิตตกอสุภะ
พิจารณาซากศพที่กระจาย อวัยวะกระเด็นไปคนละทิศละทาง ต้องนำส่วนที่กระจายในที่ต่างๆ มากองไว้ในที่เดียวกัน กำหนดบริกรรมว่า วิกขิตตกะ ปฏิกูละ ๆๆ (ศพวิกขิตตกะนี้ เป็นของน่าเกลียด น่าขยะแขยง) อุคคหนิมิตเหมือนซากศพที่เห็นปรากฏแก่สายตา ปฏิภาคนิมิตจะเห็นว่า อสุภะมีความสมบูรณ์ตลอดกาย

๗. หตวิกขิตตกอสุภะ
พิจารณาซากศพที่ถูกสับฟันด้วยมีด บริกรรมว่า หตวิกขิตตกะ ปฏิกูละ ๆๆ (ศพหตวิกขิตตกะนี้เป็นของน่าเกลียด น่าขยะแขยง) อุคคหนิมิตที่เกิดขึ้น เป็นสภาพศพที่เป็นริ้วรอยเพราะถูกฟัน ปฏิภาคนิมิตจะเป็นศพที่เรียบร้อย สมบูรณ์

๘. โลหิตกอสุภะ
พิจารณาซากศพที่มีเลือดไหล บริกรรมว่า โลหิตกะ ปฏิกูละ ๆๆ (ศพโลหิตกะนี้ เป็นของน่าเกลียดน่าขยะแขยง) อุคคหนิมิตจะเป็นสภาพศพที่เลือดไหล บางครั้งก็จะเหมือนผ้าแดงต้องลมพัดไหวๆ อยู่ส่วนปฏิภาคนิมิต จะเห็นซากศพเหมือนรูปปั้นกำมะหยี่สีแดง

๙. ปุฬุวกอสุภะ
พิจารณาซากศพที่มีหนอนคลาคล่ำชอนไชอยู่ บริกรรมว่า ปุฬุวกะ ปฏิกูละ ๆๆ (ศพปุฬุวกะนี้ เป็นของน่าเกลียด น่าขยะแขยง) อุคคหนิมิตจะเห็นเป็นศพที่หมู่หนอนคลานไต่ไปมา แต่ปฏิภาคนิมิต จะเห็นเป็นสภาพศพที่เรียบร้อยเหมือนกองข้าวสาลีสีขาวกองอยู่

๑๐.อัฏฐิกอสุภะ
พิจารณาซากศพที่เหลือแต่กระดูก บริกรรมว่า อัฏฐิกะ ปฏิกูละ ๆๆ (ศพอัฏฐิกะนี้ เป็นของน่าเกลียด ) การพิจารณาจะพิจารณากระดูกที่ติดกันหมดทั้งร่างก็ได้ หรือจะพิจารณากระดูกที่มีลักษณะเป็นท่อนๆ เป็นชิ้นๆ ก็ได้ อุคคหนิมิตที่เกิดขึ้น ก็สุดแต่ว่าจะพิจารณากระดูกในลักษณะใด ถ้าพิจารณาทั้งร่าง อุคคหนิมิตก็จะปรากฏกระดูกทั้งร่าง ถ้าพิจารณาเป็นท่อน อุคคหนิมิตก็จะปรากฏกระดูกเป็นท่อนแต่ปฏิภาคนิมิตจะเหมือนกันคือ เป็นร่างกายที่สมบูรณ์

อัฏฐิกอสุภะ หรือ ซากศพที่เป็นกระดูก สามารถนำมาพิจารณาเป็นอารมณ์กรรมฐานมีอยู่ ๕อย่าง คือ
    ๑. ร่างกระดูกที่ยังมีเนื้อ เลือด เส้นเอ็นรัดรึงเป็นรูปร่างอยู่
    ๒. ร่างกระดูกที่ไม่มีเนื้อ แปดเปื้อนด้วยเลือด ยังมีเส้นเอ็นร้อยรัดอยู่
    ๓. ร่างกระดูกที่ไม่มีเนื้อและเลือด แต่ยังมีเส้นเอ็นร้อยรัดอยู่
    ๔. กระดูกที่ไม่มีเส้นเอ็นรัดรึงแล้ว กระจัดกระจายทั่วไป
    ๕. กระดูกเป็นท่อนมีสีขาวดังสีสังข์

การเจริญอสุภกรรมฐานนั้น สำหรับผู้ที่มีนิสัยขลาดกลัวหรือกลัวผี เมื่อเกิดอุคคหนิมิต และขาดอาจารย์คอยควบคุมสอนการปฏิบัติ หรือผู้ปฏิบัติศึกษาไม่ดี ไม่เข้าใจในรูปแบบหรือลักษณะของนิมิตนั้นๆอย่างแท้จริง ก็อาจเข้าใจผิดว่าตนเองถูกผีหลอก เกิดเจ็บป่วยได้ จึงควรทำความเข้าใจในการปฏิบัติให้ดี

บางทีก่อนที่อุคคหนิมิตจะเกิดขึ้น ผู้ปฏิบัติอาจนึกคิดไปว่าศพนี้จะลุกขึ้นนั่ง จะลุกขึ้นยืน ควรมีเพื่อนไปร่วมปฏิบัติด้วย และให้ทำความเข้าใจว่าศพนั้นที่จริงไม่ต่างกับท่อนไม้ ไม่มีวิญญาณครอง ไม่มีจิตใจ จะลุกขึ้นมาหลอกหลอนไม่ได้ เป็นเพราะใจของเราคิดไปเอง วาดภาพไปเอง ในบางกรณีที่ศพยังใหม่ยังสดอยู่ เส้นเอ็นยึดทำให้ลุกขึ้น ก็เป็นไปโดยธรรมชาติ ถ้าเป็นเช่นนี้ให้ใช้ไม้ตีให้ล้มลง

การพิจารณาอสุภะนั้น นอกจากพิจารณาซากศพ หรือร่างกายที่ปราศจากชีวิต ๑๐ ประการดังกล่าวแล้ว ยังสามารถพิจารณาความเป็นอสุภะ หรือความไม่สวยงามในร่างกายของมนุษย์ที่ยังมีชีวิตอยู่ได้เช่นกัน โดยจะพิจารณาร่างกายของตนเอง หรือผู้อื่นก็ได้ดังต่อไปนี้

๑. พิจารณาเมื่อร่างกาย หรือ อวัยวะบวมขึ้น ให้พิจารณาโดยความเป็นอุทธุมาตกะ (พองอืด)
๒. พิจารณาเมื่ออวัยวะเป็นแผล ฝี มีหนองไหลออกมา ให้พิจารณาโดยความเป็นวิปุพพกะ (น้ำเหลืองไหล แผลแตกปริ)
๓. พิจารณาเมื่อ แขน ขา มือ เท้า หรืออวัยวะขาดด้วน เพราะอุบัติเหตุ หรืออย่างใดอย่างหนึ่ง ให้พิจารณาโดยความเป็นวิจฉิททกะ (อวัยวะขาดเป็นท่อน)
๔. พิจารณาเมื่อมีโลหิตเปรอะเปื้อนร่างกาย ให้พิจารณาโดยความเป็นโลหิตกะ (เลือดไหล)
๕. พิจารณาขณะที่แลเห็นฟัน ให้พิจารณาโดยความเป็นอัฏฐิกะ (กระดูก)

หากจะพิจารณาไปแล้วความเป็นอสุภะหรือไม่สวยงาม ไม่ได้เป็นเฉพาะเมื่อตาย
ลงหรือเป็นซากศพเท่านั้น ร่างกายที่มีชีวิตอยู่นี้หากพิจารณาให้ดีก็ไม่ใช่สิ่งสวยงาม แต่เพราะการตบแต่งประดับประดา และความหลงผิดทำให้คิดไปว่าเป็นของสวยงาม น่ารัก น่าใคร่ จึงเกิดความยึดมั่นถือมั่น หวงแหน

การเจริญอสุภะ สามารถให้บรรลุฌานขั้นปฐมฌานเท่านั้น การพิจารณาอสุภะในซากศพ จะมีความน่ากลัว อุคคหนิมิตจะเกิดได้เร็วกว่าการพิจารณาอสุภะในคนที่ยังมีชีวิตอยู่ การเจริญอสุภกรรมฐานทำให้ได้ปฐมฌาน หรือฌานเบื้องต้น หากต้องการจะได้ทุติยฌานต่อไปให้เปลี่ยนไปเพ่งสีที่ปรากฏชัดที่ศพ เช่น เพ่งสีแดงของเลือดที่ไหล จัดเป็นวรรณกสิณ หรือกสิณสี พร้อมบริกรรมว่าแดงๆ หรือศพสีเขียวก็เพ่งสีเขียว บริกรรมว่าเขียว ๆ ตามวิธีการของวรรณกสิณ ก็จะได้บรรลุทุติยฌาน


อานิสงส์ของการเจริญอสุภกรรมฐาน
ได้แก่

๑. มีสติ
๒. มองเห็นความไม่เที่ยงของร่างกาย (อนิจจสัญญา)
๓. มองเห็นความตายว่าจะบังเกิดกับทุกคน (มรณสัญญา)
๔. มีความรังเกียจในร่างกาย
๕. ทำให้กามตัณหาไม่ครอบงำ
๖. กำจัดความยึดมั่นถือมั่นในรูป
๗. กำจัดความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งน่าเพลิดเพลิน (อิฏฐารมณ์)
๘. อยู่เป็นสุข
๙. เข้าถึงอมตธรรม คือ พระนิพพาน เฉพาะสำหรับผู้ที่เจริญสมถะจนได้ฌาน แล้วเอาฌานเป็นบาทฐานในการเจริญวิปัสสนาแล้วบรรลุเป็นพระอรหันต์ 

ทั้งหมดนี้ เป็นความรู้ก่อนที่จะเริ่มลงมือปฏิบัติสมถกรรมฐาน เป็นความรู้เบื้องต้นพื้นฐาน เพื่อให้มีความรู้ก่อนลงมือปฏิบัติอย่างมีหลักที่ถูกต้อง การเพ่งกสิณและ อสุภะ ซึ่งจัดว่าเป็นอารมณ์สมถะกรรมฐานที่ค่อนข้างจะพิจารณายาก โดยเฉพาะในปัจจุบัน การที่จะหาศพมาพิจารณาก็ยาก ตลอดจนความเพียรของผู้ปฏิบัติเองก็อาจจะยังไม่มากพอ และทั้งกสิณ ๑๐ อสุภะ ๑๐ ในปัจจุบันโดยเฉพาะในประเทศไทยก็ไม่ใคร่นิยมปฏิบัติกัน

ฉะนั้น หากจะปฏิบัติก็ต้องศึกษาทบทวน และสอบทานตัวเองก่อนว่าเข้าใจจริงหรือไม่แล้วจึงลงมือปฏิบัติ ในระหว่างการปฏิบัติก็ต้องทบทวน สอบทานความรู้อยู่เสมอ เพื่อป้องกันการปฏิบัติผิด ตำราที่ผู้ปฏิบัติจะสอบทานผลการปฏิบัติของตนได้ คือ ในคัมภีร์ปฏิสัมภิทามรรค คัมภีร์วิสุทธิมรรค และวิมุตติมรรค



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น