วันอาทิตย์

พระอภิธัมมัตถสังคหะคืออะไร


ประมาณปี พ .ศ. ๑๒๐๐ มีพระเถระผู้ทรงความรู้ในพระไตรปิฎกท่านหนึ่งมีนามว่า พระอนุรุทธเถระ (พระอนุรุทธาจารย์) ท่านเป็นชาวกาวิลกัญจิ แขวงเมืองมัทราช ภาคใต้ของประเทศอินเดีย ท่านได้มาศึกษาพระอภิธรรมอยู่ที่สำนักวัดตุมูลโสมาราม เมืองอนุราธบุรี ประเทศลังกา จนมีความแตกฉานและได้รับยกย่องว่าเป็นปราชญ์ทางพระอภิธรรมท่านหนึ่ง ต่อมาท่านได้รับอาราธนาจากนัมพะอุบาสกผู้เป็นทายกให้ช่วยเรียบเรียงพระอภิธรรมปิฎก ซึ่งเป็นคัมภีร์ที่ละเอียดลึกซึ้งมากนั้นให้สั้นและง่ายเพื่อสะดวกแก่การศึกษาและจดจำ ด้วยความมุ่งหมายที่จะให้เป็นประโยชน์แก่นักศึกษาพระอภิธรรมทั้งหลายในอนาคต พระอนุรุทธาจารย์ได้อาศัยพระอภิธรรมปิฎกทั้ง ๗ คัมภีร์มาเป็นหลักในการเรียบเรียงพระอภิธรรมฉบับย่อและเรียกชื่อคัมภีร์นี้ว่า พระอภิธัมมัตถสังคหะ

อภิธัมมัตถสังคหะ แยกออกเป็น อภิ+ธัมมะ+อัตถะ+สัง+คหะ
อภิ = อันประเสริฐยิ่ง
ธัมมะ = สภาพที่ทรงไว้ไม่มีการผิดแปลกแปรผัน
อัตถะ = เนื้อความ
สัง = โดยย่อ
คหะ = รวบรวม

อภิธัมมัตถสังคหะ จึงหมายถึงคัมภีร์ซึ่งรวบรวมเนื้อความของพระอภิธรรมทั้ง ๗ คัมภีร์ไว้โดยย่อ อันเปรียบเสมือนแบบเรียนเร็ว พระอภิธรรมแบ่งเป็น ๙ ปริจเฉท (๙ ตอน) แต่ละปริจเฉทมีเนื้อหาโดยสรุปดังนี้
ปริจเฉทที่ ๑ จิตตสังคหวิภาค แสดงเรื่องธรรมชาติของจิต ประเภทของจิต ทั้งโดยย่อและโดย พิสดาร ทำให้เข้าใจถึงจิตประเภทต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกุศลจิต อกุศลจิต วิบาก จิต กิริยาจิต มหัคคตจิต และโลกุตตรจิต

ปริจเฉทที่ ๒ เจตสิกสังคหวิภาค แสดงเรื่องเจตสิก คือธรรมชาติที่ประกอบกับจิตเพื่อปรุงแต่งจิต มี ทั้งหมด ๕๒ ลักษณะ แบ่งเป็น เจตสิกที่ประกอบกับจิตได้ทุกประเภท เจตสิกฝ่ายกุศลและเจตสิกฝ่ายอกุศล

ปริจเฉทที่ ๓ ปกิณณกสังคหวิภาค แสดงการนำจิตและเจตสิกมาสัมพันธ์กับธรรม ๖ หมวด ได้แก่
– ความรู้สึกของจิต (เวทนา)
– เหตุแห่งความดีความชั่ว (เหตุ)
– หน้าที่ของจิต (กิจ)
– ทางรับรู้ของจิต (ทวาร)
– สิ่งที่จิตรู้ (อารมณ์)
– ที่ตั้งที่อาศัยของจิต (วัตถุ)

ปริจเฉทที่ ๔ วิถีสังคหวิภาค แสดงวิถีจิต อันได้แก่กระบวนการทำงานของจิตที่เกิดทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เมื่อได้ศึกษาปริจเฉทนี้แล้วจะทำให้รู้กระบวนการทำงานของจิตทุกประเภท บุญบาปไม่ได้เกิดที่ไหน เกิดที่วิถีจิตนี้เอง ก่อนที่จะเกิดจิตบุญหรือจิตบาป มีจิตขณะหนึ่งเกิดก่อน คอยเปิดประตูให้เกิดจิตบุญหรือจิตบาป จิตดวงนี้เกี่ยวข้องกับการวางใจอย่างแยบคาย (โยนิโสมนสิการ) หรือการวางใจอย่างไม่แยบคาย (อโยนิโสมนสิการ ) หากเราได้เข้าใจก็จะมีประโยชน์ในการป้องกันมิให้จิตบาปเกิดขึ้นได้

ปริจเฉทที่ ๕ วิถีมุตตสังคหวิภาค แสดงถึงการทำงานของจิตขณะใกล้ตาย ขณะตาย (จุติ) และขณะ เกิดใหม่ (ปฏิสนธิ) กล่าวถึงเหตุแห่งการตาย การเกิดของสัตว์ในภพภูมิต่างๆ โดยแบ่งได้ถึง ๓๑ ภพภูมิ (มนุษยภูมิเป็นเพียง ๑ ใน ๓๑ ภูมิ ) ขณะเวลาใกล้จะตาย ภาวะจิตเป็นอย่างไร ควรวางใจอย่างไรจึงจะไปเกิดในภพภูมิที่ดี พระพุทธองค์ทรงอธิบายไว้อย่างชัดเจนว่าตายแล้วต้องเกิดทันที มิใช่ตายแล้ววิญญาณ (จิต) ต้องเร่ร่อนเพื่อไปหาที่เกิดใหม่ และยังได้อธิบายเรื่องของกรรม ลำดับแห่งการให้ผลของกรรมไว้อย่างละเอียดลึกซึ้งอีกด้วย

ปริจเฉทที่ ๖ รูปสังคหวิภาคและนิพพาน เมื่อได้ศึกษาทำความเข้าใจเรื่องจิตและเจตสิก อันเป็นนามธรรมมาแล้ว ในปริจเฉทที่ ๖ นี้พระอนุรุทธาจารย์ได้แสดงองค์ประกอบที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งของมนุษย์และสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย นั่นก็คือเรื่องของรูป ร่างกาย (รูปธรรม) โดยแบ่งรายละเอียดออกเป็นรูปต่างๆ ได้ ๒๘ ชนิด และอธิบายถึงสมุฏฐาน (เหตุ) ในการเกิดรูปต่างๆ ไว้อย่างละเอียดพิสดาร ในตอนท้ายได้กล่าวถึงเรื่องพระนิพพานว่ามีสภาวะอย่างไร อันจะทำให้เข้าใจเรื่องของพระนิพพานได้อย่างถูกต้องชัดเจน

ปริจเฉทที่ ๗ สมุจจยสังคหวิภาค เมื่อได้ศึกษาปรมัตถธรรม ๔ อันได้แก่ จิต เจตสิก รูป นิพพาน มา จากปริจเฉทที่ ๑ ถึง ๖ แล้ว ในปริจเฉทนี้จะแสดงธรรมที่เป็นฝ่ายกุศล ซึ่งให้ผลเป็นความสุขและธรรมที่เป็นฝ่ายอกุศลซึ่งให้ผลเป็นความทุกข์ ในสภาวะความเป็นจริงแล้วกุศลจิต (จิตบุญ) และอกุศลจิต (จิตบาป) จะเกิดสลับสับเปลี่ยนกันอยู่ตลอดเวลา ส่วนจะเกิดจิตชนิดไหนมากน้อยเพียงใดนั้นย่อมขึ้นอยู่กับคุณธรรมและจริยธรรมของแต่ละบุคคล คนเราทั่วไปมักไม่เข้าใจและไม่รู้จักกับกุศลและอกุศลเหล่านี้ จึงทำให้ชีวิตตกอยู่ในวัฏฏทุกข์ไม่รู้จักจบสิ้น ในปริจเฉทที่ ๗ นี้ได้แสดงธรรมที่ควรรู้ที่สำคัญๆได้แก่ อุปาทานขันธ์ (ขันธ์ที่ถูกอุปาทานยึดมั่นอย่างเหนียวแน่น) อายตนะ ๑๒ (สิ่งเชื่อมต่อเพื่อให้รู้อารมณ์) , ธาตุ ๑๘ (ธรรมชาติที่ทรงไว้ซึ่ง สภาพ ของตน ), อริยสัจ ๔ (ความจริงของพระอริยะ ),โพธิปักขิยธรรม (ธรรมที่เกื้อกูลการตรัสรู้, ธรรมที่เกื้อหนุนแก่อริยมรรค) มี ๓๗ ประการ คือ สติปัฏ ฐาน ๔, สัมมัปปธาน ๔, อิทธิบาท ๔, อินทรีย์ ๕, พละ ๕, โพชฌงค์ ๗ และ มรรคมีองค์ ๘

ปริจเฉทที่ ๘ ปัจจยสังคหวิภาค ในปริจเฉทนี้ ท่านได้แสดงเรื่องปฏิจจสมุปบาท (เหตุและผลที่ทำให้มีการเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏฏ์) และปัจจัยสนับสนุน ๒๔ ปัจจัย ในตอนท้ายยังได้แสดงความหมายของบัญญัติธรรม ซึ่งเป็นธรรมที่ไม่ใช่เป็นความจริงแท้แต่เป็นจริงตามสมมุติ (สมมุติสัจจะหรือสมมุติโวหาร) ตามกติกาของชาวโลก

ปริจเฉทที่ ๙ กัมมัฏฐานสังคหวิภาค ในปริจเฉทนี้ ท่านกล่าวถึงความแตกต่างของสมถกรรมฐาน และ วิปัสสนากรรมฐาน เพื่อให้เห็นว่าสมถกรรมฐานหรือการทำสมาธินั้นเป็นการปฏิบัติเพื่อให้จิตเกิดความสงบ และเกิดอภิญญา (เกิดอิทธิฤทธิ์ต่างๆ) เท่านั้น ซึ่งไม่ใช่จุดมุ่งหมายสูงสุดในพระพุทธศาสนา เพราะผลของการทำสมาธิหรือสมถกรรมฐานนั้นเป็นการข่มกิเลสไว้ชั่วขณะเท่านั้น ไม่สามารถทำลายกิเลสได้ ถึงแม้จะเจริญสมถกรรมฐานถึงขั้นอรูปฌานจนได้เสวยสุข อยู่ในอรูปพรหมภูมิเป็นเวลาอันยาวนาน แต่ในที่สุดก็ต้องกลับมาเวียนว่ายตายเกิดไม่รู้จักจบจักสิ้น
จุดมุ่งหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา คือการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน เพื่อให้เกิดปัญญารู้แจ้งในสภาวธรรมตามความเป็นจริงว่า จิต + เจตสิก และรูป ซึ่งเป็นองค์ประกอบของชีวิตต่างก็มีการเกิดขึ้น – ตั้งอยู่ – ดับไป – เกิดขึ้น – ตั้งอยู่ – ดับไป ต่อเนื่องกันไปอย่างรวดเร็วอยู่ตลอดเวลา เป็นสภาพที่ไม่เที่ยง ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ ไม่ใช่ตัวตนอะไรของใคร ไม่มี ใครเป็นเจ้าของ ไม่สามารถที่จะบังคับบัญชาได้ ว่างเปล่าจากความเป็นตัวตน ปัญญาที่ประจักษ์แจ้งในสภาวธรรมตามความเป็นจริงเช่นนี้ เมื่อมีกำลังแก่กล้าก็จะสามารถประหารกิเลสและเข้าถึงพระนิพพานได้ในที่สุด



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น