วันพุธ

มิสสกสังคหะ หน้า ๒

💬ย้อนกลับ มิสสกสังคหะ  (ธรรมที่เป็นเหตุของการทำบุญ, ทำบาป, อพยากตะ) หน้าแรก

อินทรีย์ ๒๒

อินทรีย์หมายถึง ความเป็นใหญ่เป็นผู้ปกครอง ธรรมใดที่เกิดขึ้นพร้อมกับตน ต้องเป็นไปตามอำนาจปกครองของตน ในการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การรู้รส และการรู้ถูกต้องสัมผัสนั้น มีธรรมที่เป็นอินทรีย์ อยู่หลายประการ

เช่น การเห็น มี จักขุปสาทรูปเป็นอินทรีย์ เรียกว่า จักขุนทรีย์ เพราะเป็นใหญ่เป็นผู้ปกครองในการรับรูปารมณ์ ถ้าไม่มีจักขุปสาทรูปแล้ว รูปอื่น ๆ จะไม่สามารถรับรูปารมณ์ได้เลย นอกจากจักขุนทรีย์แล้ว รูปชีวิตินทรีย์ ยังเป็นผู้ปกครองรักษา กัมมชรูป รวมทั้งจักขุปสาทรูปที่เกิดพร้อมกับตนด้วย แล้ว มนินทรีย์ คือ จักขุวิญญาณ เป็นผู้ปกครองในการเห็นรูปารมณ์ ดังนี้เป็นต้น นี่คือตัวอย่างในการเห็น โดยมีธรรมที่เป็นอินทรีย์เกิดขึ้นพร้อม ๆ กันได้

หลายอินทรีย์ ที่เป็นเช่นนี้เพราะมีแบ่งหน้าที่ โดยมีหัวหน้าเป็นผู้ปกครองนั่นเองในการได้ยิน ได้กลิ่น รู้รส รู้ถูกต้องสัมผัส นึกคิดอารมณ์ ก็ล้วนแต่มีอินทรีย์เกิดขึ้นในทำนองเดียวกันนี้ ซึ่งทุก ๆ อินทรีย์ก็มีหน้าปกครอง หรือกระทำสภาวธรรมที่เกี่ยวเนื่องกับตนให้เป็นไปตามอำนาจของตนด้วย

    ๑)จักขุนทรีย์ ธรรมชาติที่เป็นใหญ่ในการรับ รูปารมณ์ องค์ธรรมได้แก่ จักขุปสาทรูป
    ๒) โสตินทรีย์ ธรรมชาติที่เป็นใหญ่ในการรับ สัททารมณ์ องค์ธรรมได้แก่ โสตปสาทรูป
    ๓) ฆานินทรีย์ ธรรมชาติที่เป็นใหญ่ในการรับ คันธารมณ์ องค์ธรรมได้แก่ ฆานปสาทรูป
    ๔) ชิวหินทรีย์ ธรรมชาติที่เป็นใหญ่ในการรับ รสารมณ์ องค์ธรรมได้แก่ ชิวหาปสาทรูป
    ๕) กายินทรีย์ ธรรมชาติที่เป็นใหญ่ในการรับ โผฏฐัพพารมณ์ องค์ธรรมได้แก่ กายปสาทรูป
    ๖)อิตถินทรีย์ ธรรมชาติที่เป็นใหญ่ใน ความเป็นหญิง องค์ธรรมได้แก่ อิตถีภาวรูป
    ๗) ปุริสินทรีย์ ธรรมชาติที่เป็นใหญ่ใน ความเป็นชาย องค์ธรรมได้แก่ ปุริสภาวรูป
    ๘) ชีวิตินทรีย์ ธรรมชาติที่เป็นใหญ่ใน การรักษารูป-นาม องค์ธรรมได้แก่ ชีวิตรูป และ ชีวิตินทรีย์เจตสิก
    ๙) มนินทรีย์ ธรรมชาติที่เป็นใหญ่ใน การรู้อารมณ์ องค์ธรรมได้แก่ จิตทั้งหมด
    ๑๐) สุขินทรีย์ ธรรมชาติที่เป็นใหญ่ใน การเสวยความสุขกาย องค์ธรรมได้แก่ เวทนาเจตสิก ที่ในสุขสหคตกายวิญญาณจิต ๑
    ๑๑) ทุกขินทรีย์ ธรรมชาติที่เป็นใหญ่ใน การเสวยความทุกข์กาย องค์ธรรมได้แก่ เวทนาเจตสิก ที่ในทุกขสหคตกายวิญญาณจิต ๑
    ๑๒) โสมนัสสินทรีย์ ธรรมชาติที่เป็นใหญ่ใน การเสวยความสุขใจ องค์ธรรมได้แก่ เวทนาเจตสิก ที่ในโสมนัสสหคตจิต ๖๒
    ๑๓) โทมนัสสินทรีย์ ธรรมชาติที่เป็นใหญ่ใน การเสวยความทุกข์ใจ องค์ธรรมได้แก่ เวทนาเจตสิก ที่ในโทมนัสสหคตจิต ๒
    ๑๔) อุเปกขินทรีย์ ธรรมชาติที่เป็นใหญ่ใน การเสวยอารมณ์เป็นกลาง องค์ธรรมได้แก่ เวทนาเจตสิก ที่ในอุเบกขาสหคตจิต ๕๕
    ๑๕) สัทธินทรีย์ ธรรมชาติที่เป็นใหญ่ใน ความเชื่อต่อสิ่งที่ควรเชื่อ องค์ธรรมได้แก่ สัทธาเจตสิก
    ๑๖) วิริยินทรีย์ ธรรมชาติที่เป็นใหญ่ใน ความเพียรต่ออารมณ์ องค์ธรรมได้แก่วิริยเจตสิก ที่ในวิริยสัมปยุตตจิต ๑๐๕
    ๑๗) สตินทรีย์ ธรรมชาติที่เป็นใหญ่ใน การระลึกชอบ องค์ธรรมได้แก่ สติเจตสิก ที่ในโสภณจิต ๙๑
    ๑๘) สมาธินทรีย์ ธรรมชาติที่เป็นใหญ่ใน การตั้งใจมั่นในอารมณ์ องค์ธรรมได้แก่ เอกัคคตาเจตสิก ที่ในจิต ๗๒ (เว้นอวิริยจิต ๑๖)
    ๑๙) ปัญญินทรีย์ ธรรมชาติที่เป็นใหญ่ใน การรู้สภาวธรรมตามความเป็นจริง องค์ธรรมได้แก่ ปัญญาเจตสิก ที่ในญาณสัมปยุตตจิต ๔๗ หรือ ๗๙
    ๒๐) อนัญญาตัญญัสสามิตินทรีย์ ธรรมชาติที่เป็นใหญ่ใน การรู้แจ้งในอริยสัจ ๔ ที่ตนยังไม่เคยรู้ องค์ธรรมได้แก่ ปัญญาเจตสิก ที่ในโสดาปัตติมัคคจิต ๑
    ๒๑ )อัญญินทรีย์ ธรรมชาติที่เป็นใหญ่ในการรู้แจ้งในอริยสัจ ๔ ที่ตนเคยรู้ องค์ธรรมได้แก่ ปัญญาเจตสิก ที่ในมรรคจิตเบื้องบน ๓ และผลจิตเบื้องต่ำ ๓
    ๒๒)อัญญาตาวินทรีย์ ธรรมชาติที่เป็นใหญ่ใน การรู้แจ้งในอริยสัจ ๔ สิ้นสุดแล้ว องค์ธรรมได้แก่ ปัญญาเจตสิก ที่ในอรหัตตผลจิต ๑ 


พละ ๙

พละ คือ กำลัง หมายถึง ธรรมที่มีกำลัง ไม่หวั่นไหวต่อปฏิปักษ์ธรรม ธรรมที่เป็นอกุศลย่อมเป็นปฏิปักษ์กับธรรมที่เป็นกุศล ฉะนั้น เมื่อกุศลธรรมเกิดขึ้น ย่อมไม่หวั่นไหวในการที่จะทำหน้าที่ทำลายอกุศลธรรม เช่น เมื่อสัทธาพละ เกิดขึ้น ก็จะทำลาย อสัทธิยะ ให้หายสิ้นไป เมื่อ หิริกพละ คือความละอายต่อบาปทุจริตกรรม เกิดขึ้นก็จะทำลาย อหิริกะพละ คือ ความไม่ละอายต่อบาปอกุศลกรรมให้หมดสิ้นไปเช่นกัน

พละ มี๙ ประการ 



๑) สัทธาพละ
ความเชื่อความเลื่อมใสต่อสิ่งที่ควรเชื่อ หมายถึง เชื่อในการทำกุศลความดี เลื่อมใสในคุณ
ของพระพุทธเจ้า เลื่อมใสในข้อประพฤติปฏิบัติที่เป็นหนทางสู่ความดับทุกข์ องค์ธรรมได้แก่ สัทธาเจตสิก ที่ในโสภณจิต ๕๙ หรือ ๙๑
๒)วิริยพละ ความเพียรพยายามเป็นกำลัง หมายถึง ความเพียรกระทำการงานต่าง ๆ เพียรในการเจริญวิปัสสนา องค์ธรรมได้แก่ วิริยเจตสิก ที่ในวิริยสัมปยุตตจิต ๑๐๕
๓) สติพละ ความระลึกได้ในอารมณ์ที่เป็นฝ่ายดีเป็นกำลัง หมายถึงการมีสติระลึกในอารมณ์ที่เป็นที่ตั้งแห่งกุศลทั้งปวง องค์ธรรมได้แก่ สติเจตสิก ที่ในโสภณจิต ๕๙ หรือ ๙๑
๔) สมาธิพละ ความตั้งใจมั่นในอารมณ์เดียวเป็นกำลัง องค์ธรรมได้แก่ เอกัคคตาเจตสิก ที่ในจิต๑๐๔ (เว้นอวิริยจิต ๑๖ และวิจิกิจฉาสัมปยุตตจิต๑)
๕) ปัญญาพละ ความรู้ที่ถูกต้องตามสภาวธรรมเป็นกำลัง องค์ธรรมได้แก่ ปัญญาเจตสิก ที่ในญาณสัมปยุตตจิต ๗๙
๖) หิริพละ ความละอายต่อบาปเป็นกำลัง องค์ธรรมได้แก่ หิริเจตสิก ที่ในโสภณจิต ๙๑
๗) โอตตัปปพละ ความสะดุ้งกลัวต่อทุจริตเป็นกำลัง องค์ธรรมได้แก่ โอตตัปปเจตสิก ที่ในโสภณจิต ๙๑
๘)อหิริกพละ ความไม่ละอายต่อทุจริตเป็นกำลัง องค์ธรรมได้แก่ อหิริกเจตสิก ที่ในอกุศลจิต ๑๒
๙)อโนตตัปปพละ ความไม่สะดุ้งกลัวต่อทุจริตเป็นกำลัง องค์ธรรมได้แก่ อโนตตัปปเจตสิก ที่ในอกุศลจิต ๑๒


อธิบดี ๔

อธิบดี คือ ธรรมที่เป็นใหญ่เป็นผู้นำที่ทำให้เกิดความสำเร็จ หมายถึง ธรรมที่เป็นใหญ่กว่าธรรมที่ร่วมกันกับตน ธรรมที่เป็นใหญ่ที่ทำให้เกิดความสำเร็จ มี๒ อย่าง คือ ความเป็นใหญ่โดยความเป็นอินทรีย์ กับ ความเป็นใหญ่โดยความเป็นอธิบดี

ความเป็นใหญ่ทั้ง ๒ นี้มีความต่างกัน กล่าวคือ ความเป็นใหญ่โดย อินทรีย์ นั้น ในขณะเกิดขึ้นย่อมเกิดพร้อม ๆ กันได้หลายอินทรีย์ โดยไม่ขัดกัน เพราะธรรมชาติของอินทรีย์ย่อมเป็นใหญ่ ปกครองเฉพาะในหน้าที่ของตน ไม่ก้าวก่ายขัดแย้งกับอินทรีย์อื่นใด ส่วนความเป็นใหญ่โดย อธิบดี มีสภาพเป็นใหญ่ยิ่งกว่าธรรมที่เกิดพร้อมกับตน ฉะนั้นเมื่อเกิดขึ้น ย่อมเกิดเป็นอธิบดีได้เพียงอย่างเดียว เช่น ในขณะที่ ฉันทะ เป็นอธิบดี คือมีความพอใจอย่างแรงกล้าเกิดขึ้นแล้ว วิริยะ จิต และปัญญา ก็ต้องคล้อยตาม ฉันทะ ไปในอารมณ์เดียวกันด้วย ดังนั้น ความเป็นใหญ่โดยความเป็น อินทรีย์ เกิดขึ้นในคราวเดียวกันได้หลาย ๆ อินทรีย์อย่างไม่ขัดกัน ส่วนความเป็นใหญ่โดยความเป็น อธิบดี นั้น ในคราวหนึ่ง ๆ เป็นอธิบดีได้อย่างเดียว อย่างอื่นเป็นอธิบดีไม่ได้

    ๑) ฉันทาธิปติ หมายถึง ธรรมชาติที่เป็นใหญ่ใน ความพอใจ คือ ความพอใจเพื่อทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้สำเร็จ เช่น พอใจในการอ่านหนังสือ พอใจในการเล่นกีฬา พอใจในการทำบุญใส่บาตร พอใจในการเจริญวิปัสสนา เป็นต้น องค์ธรรมได้แก่ ฉันทเจตสิก ที่ในทวิเหตุกชวนะ ๑๘ และ ติเหตุกชวนะ ๓๔ รวมเรียกว่า สาธิปติชวนจิต ๕๒
    ๒)วิริยาธิปติ หมายถึง ธรรมชาติที่เป็นใหญ่ใน ความเพียร คือ ความเพียรมุ่งเพื่อทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้สำเร็จตามที่ตั้งใจ เช่น มีความเพียรในการเรียน มีความเพียรในการเจริญวิปัสสนา เป็นต้น องค์ธรรมได้แก่ วิริยเจตสิกที่ในทวิเหตุกชวนะ ๑๘ และ ติเหตุกชวนะ ๓๔ รวมเรียกว่า สาธิปติชวนจิต ๕๒
    ๓) จิตตาธิปติ หมายถึง ธรรมชาติที่เป็นใหญ่ใน การรับอารมณ์ เป็นการจดจ่อต่ออารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งที่สนใจ ทำให้ไม่หวั่นไหวไปในอารมณ์อื่น ๆ เช่น มีความสนใจที่จะฟังเสียงเพลง มีความสนใจที่จะฟังเสียงธรรมะ เป็นต้น องค์ธรรมได้แก่ ทวิเหตุกชวนจิต ๑๘ และ ติเหตุกชวนจิต ๓๔ รวมเรียกว่า สาธิปติชวนจิต ๕๒
    ๔) วีมังสาธิปติ หมายถึง ธรรมชาติที่เป็นใหญ่ใน การรู้แจ้งตามความเป็นจริง เป็นสภาพของปัญญาที่เกิดขึ้นเพื่อการรู้สภาวธรรมตามความเป็นจริง องค์ธรรมได้แก่ ปัญญาเจตสิก ที่ในติเหตุกชวนจิต ๓๔

🔰 ธรรมที่เป็นอธิบดีนั้นต้องเป็นชวนจิต*
ซึ่งเป็นเฉพาะชวนจิตที่มีเหตุ ๒ กับชวนจิตที่มีเหตุ ๓ รวม
เรียกว่า สาธิปติชวนจิต (ชวนจิตมีทั้งหมด ๕๕ เว้นอเหตุกชวนจิต และ เอกชวนจิต ไม่เป็นอธิบดี) มีรายละเอียดดังนี้


จากองค์ธรรมของ สาธิปติชวนะ ทำให้ทราบได้ว่าความเป็นอธิบดีนั้น เป็นได้ทั้งใน กุศลและอกุศล ฉะนั้น 
บางครั้งบุคคลอาจมีอกุศลเป็นธรรมชาติให้เป็นอธิบดี ทำให้เกิดฉันทะ ในการกระทำอกุศลให้สำเร็จอย่างดีก็เป็นได้


 อาหาร ๔ 

อาหาร เป็นเหตุธรรมที่อุดหนุนให้ผลเกิดขึ้นและช่วยให้ธรรมอื่นเกิดขึ้น คำว่า อาหาร มีความหมายกว้างขวางออกไปหลายนัย ในพระบาลีให้ความหมายของคำว่า อาหาร ไว้ว่า “ธรรมใด นำมาซึ่งรูปอันเกิดจากโอชา นำมาซึ่งเวทนา นำมาซึ่งปฏิสนธิวิญญาณ และนำมาซึ่งเจตสิกกับกัมมชรูป ธรรมนั้นชื่อว่า อาหาร


    ๑) กพฬีการาหาร (นำมาซึ่งรูปที่เกิดจากโอชา) กพฬีการาหาร ได้แก่ โอชา สารอาหารหรือวิตามิน ที่ได้จาก ข้าว น้ำ พืชผักต่าง ๆ ตลอดจนทุกสิ่งที่เรากลืนกินเข้าไป สารอาหารนี้จะเข้าไปหล่อเลี้ยงร่างกายให้ดำรงอยู่ได้ องค์ธรรมได้แก่โอชาที่อยู่ในอาหารต่าง ๆ
    ๒) ผัสสาหาร (นำมาซึ่งเวทนา) ผัสสาหาร นำมาซึ่งเวทนา คือการเสวยอารมณ์ทุกข์บ้างสุขบ้าง หรือไม่ทุกข์ไม่สุขให้เกิดขึ้น เวทนาทั้งหลายนี้ ถ้าไม่มีผัสสะแล้ว ก็จะเกิดไม่ได้เลย เพราะผัสสะนี้เป็นเหตุให้เกิดเวทนา จึงชื่อว่าผัสสะเป็นอาหารของเวทนา (หรือผัสสะนำมาซึ่งการเกิดเวทนา) องค์ธรรมได้แก่ ผัสสเจตสิก ที่ในจิตทั้งหมด
    ๓) มโนสัญเจตนาหาร (นำมาซึ่งวิปาก) มโนสัญเจตนาหาร ก็คือเจตนาในการทำกุศล อกุศล เจตนานี้เป็นเหตุนำมาให้เกิดผล คือกุศลวิบากจิตและอกุศลวิบากจิต ทั้งในขณะปฏิสนธิกาลและปวัตติกาล ในขณะปฏิสนธิกาลก็นำมาซึ่งปฏิสนธิวิญญาณ คือการเกิดเป็นมนุษย์ เทวดา พรหม หรืออบายสัตว์ ในขณะปวัตติกาลก็นำมาซึ่งวิบากต่าง ๆ เช่น ทำให้เห็นรูปารมณ์ที่ดี ได้ยินเสียงที่ดี เป็นต้น องค์ธรรมได้แก่ เจตนาเจตสิก ที่ในจิตทั้งหมด
    ๔) วิญญาณาหาร (นำมาซึ่งเจตสิกและกัมมชรูป) วิญญาณาหาร นำมาซึ่งเจตสิกและกัมมชรูป ในปฏิสนธิกาล ปฏิสนธิวิญญาณย่อมเป็นผู้นำให้เจตสิกและกัมมชรูปเกิดขึ้นได้ ในปวัตติกาล จิตย่อมนำให้เจตสิกเกิดขึ้นอย่างเดียว ไม่ได้นำให้กัมมชรูปเกิดขึ้นด้วยเพราะกัมมชรูปไม่ใช่รูปที่เกิดจากสมุฏฐานของจิต แต่เป็นรูปที่เกิดจากสมุฏฐานของกรรม แต่อย่างไรก็ตามกัมมชรูปก็อาศัยเกิดมาจากอดีตกรรม ที่เรียกว่า กัมมวิญญาณ คืออกุศลจิตและโลกียกุศลจิตในภพก่อน ๆ ซึ่งก็ชื่อว่าวิญญาณเหมือนกัน ด้วยเหตุนี้ จิตทั้งหมดจึงชื่อว่า วิญญาณาหาร องค์ธรรมได้แก่ จิตทั้งหมด




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น