วันเสาร์

๔.๑.๓ มโนทุจริต ๓

มโนทุจริต คือ อกุศลกรรมที่เกิดทางใจ เพียงแต่คิดไว้ในใจยังไม่ได้ กระทำออกมาทางกาย ทางวาจา ก็ได้ชื่อว่า เป็นการทำบาปแล้ว
มโนทุจริต ๓ ได้แก่
๑. อภิชฌา
๒. พยาบาท
๓. มิจฉาทิฏฐิ

๑. อภิชฌา
คือ ความเพ่งเล็งในทรัพย์ของผู้อื่นและอยากได้ทรัพย์ของผู้อื่นเพื่อให้มาเป็นของตน องค์ธรรมได้แก่ โลภเจตสิก โลภะ มี ๒ อย่าง คือ
  • ๑.๑ ความอยากได้โดยชอบธรรม เมื่อเกิดความอยากได้สิ่งต่างๆ ก็เสาะแสวงหามาโดยสุจริตไม่ ผิดศีลธรรม เช่น การซื้อขาย แลกเปลี่ยน หรือ การขอ 
  • ๑.๒ ความอยากได้โดยไม่ชอบธรรม เมื่อเกิดความอยากได้ ก็คิดหาทางที่จะขโมย ฉ้อโกง จี้ ปล้น หรือใช้กลวิธีต่างๆ เพื่อที่จะให้ได้มาซึ่งสิ่งเหล่านั้น
ถ้าเกิดความโลภในสิ่งของๆ ผู้อื่นแล้ว และตราบใดที่ยังไม่คิดว่า “ ขอ สิ่งนั้นจงเป็นของเรา” ก็ยังไม่เป็นอภิชฌา อภิชฌาเกิดเพราะมีทรัพย์ของผู้อื่นเป็นเหตุ แต่ก็ต่างกับอทินนาทาน คือ ถ้าการลักเอาสิ่งของๆ ผู้อื่นมาด้วยเจตนาตั้งใจลักจัดเป็นอทินนาทาน แต่ถ้าเกิดความโลภอยากได้อย่างแรงกล้าแล้วเพียงแต่เพ่งจ้องสิ่งนั้นๆของผู้อื่น และปรารถนาเพื่อจะได้สิ่งนั้นๆมาเป็นของตน อย่างนี้จัดเป็นอภิชฌา

องค์ประกอบของอภิชฌา มี ๒ ประการ คือ
๑. ทรัพย์สมบัติของผู้อื่น
๒. มีจิตคิดอยากจะได้มาเป็นของตน

ผลบาปของความเพ่งเล็งอยากได้
ผลของบาปในปฏิสนธิกาล
เมื่อความเพ่งเล็งอยากได้สำเร็จลงโดยมีองค์ประกอบทั้ง ๒ ครบ จัดเป็นอกุศลกรรมที่สมบูรณ์ เมื่อกรรมเช่นนี้ส่งผล จะนำไปเกิดในอบายภูมิ
ผลของบาปในปวัตติกาล
กรรมนี้จะส่งผลได้ในปวัตติกาล คือ ทำให้ ได้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ได้ลิ้มรส ได้สัมผัส ได้รับอารมณ์ และพิจารณาอารมณ์ที่ไม่ดี เศษกรรมที่จะตามมาส่งผลหลังจากที่ได้รับทุกข์ในอบายภูมิแล้ว ยังสามารถตามมาส่งผลทำให้เมื่อมีทรัพย์และคุณความดี ก็จะทำให้ทรัพย์และคุณความดีนั้นตั้งอยู่ได้ไม่นาน ย่อมจะทำให้เกิดในตระกูลที่ต่ำ ขัดสนในลาภสักการะ มักจะถูกติเตียนอยู่เสมอ

๒. พยาบาท
คือ ความมุ่งร้าย คิดทำลายประโยชน์และความสุขของผู้อื่น องค์ธรรมได้แก่โทสะ โทสะ คือ ความโกรธที่เป็นมุ่งทำให้ผู้อื่นได้รับความวิบัติ พยาบาทจะมีโทษน้อยหรือมากก็เป็นเช่นเดียวกันกับผรุสวาท

องค์ประกอบของพยาบาท มี ๒ ประการ
๑. มีผู้อื่น
๒. คิดที่จะให้ความเสียหายเกิดกับผู้นั้น

พยาบาทที่มุ่งจะให้สัตว์ตาย มีความแตกต่างกับปาณาติบาต คือ ในการทำให้สัตว์ตายมีเจตนาตั้งใจจะฆ่าให้ถึงแก่ความตายเป็นประธาน แต่ถ้ามีความโกรธเฉพาะกับบุคคลหนึ่ง มุ่งจะทำลายล้างบุคคลนั้น เห็นว่าตนจะหมดความโกรธได้ เมื่อบุคคลนั้นพินาศไปหรือตายไป เช่นนี้ความโกรธอย่างแรงกล้านั้นเป็นประธาน แต่เจตนาเป็นเพียงธรรมชาติที่มาคล้อยตามความโกรธเท่านั้น อย่างนี้จัดเป็นพยาบาท แม้ว่าผู้นั้นยังไม่ตายไปหรือพินาศไป

ผลบาปของความพยาบาท
ผลของบาปในปฏิสนธิกาล
เมื่อความพยาบาทสำเร็จลงโดย มีองค์ ประกอบทั้ง ๒ ครบ จัดเป็นอกุศลกรรมที่สมบูรณ์ เมื่อกรรมเช่นนี้ส่งผลตอนสิ้นชีวิตจะนำไปเกิดในอบายภูมิ   
ผลของบาปในปวัตติกาล
กรรมนี้จะส่งผลได้ในปวัตติกาล คือ ทำให้ ได้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ได้ลิ้มรส ได้สัมผัส ได้รับอารมณ์ และพิจารณาอารมณ์ที่ไม่ดี เศษกรรมที่จะตามมาส่งผลหลังจากที่ได้รับทุกข์ในอบายภูมิแล้ว ยังสามารถตามมาส่งผลทำให้มีอายุสั้น มีโรคภัยเบียดเบียน มีผิวพรรณหยาบกร้าน

๓. มิจฉาทิฏฐิ
มิจฉาทิฏฐิ คือ การเห็นผิดจากความเป็นจริง พระพุทธองค์ได้ทรง แสดงไว้อย่างกว้างขวาง เช่น สักกายทิฏฐิ ความเห็นผิดว่าขันธ์ ๕ เป็นเรา เป็นต้น หรือ มิจฉาทิฏฐิ ๖๒ ที่แสดงไว้ในพรหมชาลสูตร หรือ นิยต มิจฉาทิฏฐิ ที่แสดงไว้ในสามัญผลสูตร เป็นต้น

องค์ประกอบของมิจฉาทิฏฐิ มี ๒ ประการ
๑. เนื้อความที่ได้ยึดไว้นั้นผิดจากความจริง
๒. มีความเห็นว่าเนื้อความนั้นเป็นความจริง

มิจฉาทิฏฐิ ที่ถือว่าเป็นหลักของความเห็นผิด เรียกว่านิยตมิจฉาทิฏฐิ มี ๓ ประการ 
  • ๓.๑ นัตถิกทิฏฐิ ความเห็นผิดคิดว่าไม่มีผลแห่งกรรมที่ทำไว้ เป็นการ ปฏิเสธผล ผู้ที่มีความเห็นชนิดนัตถิกทิฏฐิย่อมมีอุจเฉททิฏฐิด้วย คือเห็นว่าสัตว์ทั้งหลายตายแล้วก็สูญไม่มีการเกิดอีก มีความเห็นว่าไม่มีสิ่งที่เรียกว่า สมมติสัจจะ ไม่มีสิ่งที่เรียกว่าคติธรรมดา หรือคลองธรรมตามเหตุและผล ไม่มีสิ่งที่เรียกว่าสมมติสัจจะ เช่น ไม่มีมารดาบิดา สัตว์บุคคลเกิดสืบเชื้อสายกันมาตามเรื่องตามราวเท่านั้น จึงไม่มีใครที่จะต้องนับถือว่าเป็นบิดามารดา แม้ที่นับถือว่าเป็นสมณะ พราหมณ์ ภิกษุ สามเณร ก็ไม่มีเป็นต้น ไม่มีสิ่งที่เรียกว่า คติธรรมดา หรือที่เป็นไปตามคลองธรรม เช่น ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว อย่างนี้ก็ไม่มี

    สามัญผลสูตรแสดงนัตถิกทิฏฐิว่ามีเหตุอยู่ ๑๐ ประการ มีดังนี้
    ๑. เห็นว่า การทำทาน ไม่มีผล
    ๒. เห็นว่า การบูชา ไม่มีผล
    ๓. เห็นว่า การต้อนรับเชื้อเชิญ ไม่มีผล
    ๔. เห็นว่า การทำดี ทำชั่ว ไม่มีผล
    ๕. เห็นว่า ผู้มาเกิดในภพนี้ ไม่มี
    ๖. เห็นว่า ผู้จะไปเกิดในภพหน้า ไม่มี
    ๗. เห็นว่า บุญคุณของมารดา ไม่มี
    ๘. เห็นว่า บุญคุณของบิดา ไม่มี
    ๙. เห็นว่า ผู้ที่เกิดและโตทันที เช่นเทวดา พรหม เปรต ไม่มี
    ๑๐. เห็นว่า ผู้รู้แจ้งโลก คือ พระพุทธเจ้า ไม่มี 
  • ๓.๒ อเหตุกทิฏฐิ ความเห็นผิดคิดว่าไม่มีเหตุ เป็นการปฏิเสธเหตุ คือ เมื่อได้รับผลดีผลร้ายต่างๆ ก็เห็นว่าเป็นไปตามคราว คราวที่มีโชคดีก็ได้รับผลดี คราวที่มีโชคร้ายก็ได้รับผลไม่ดี ไม่มีเหตุอะไรที่จะมาทำให้ได้ผลดี ผลร้าย ปฏิเสธเหตุในการทำดี ทำชั่ว ของบุคคลทั้งหลายที่กระทำกันอยู่ทุกวันนี้ ไม่เชื่อว่าเป็นเหตุที่จะก่อให้เกิดผลได้ ฉะนั้นการปฏิเสธเหตุนี้ก็เท่ากับว่า ปฏิเสธผลไปด้วย สามัญญผลสูตรได้แสดงไว้ว่า การปฏิเสธเหตุนั้น เป็นการปฏิเสธ ชนกกรรม คือ เหตุที่ให้เกิด และปฏิเสธอุปัตถัมภกกรรม คือ เหตุที่ช่วย อุปถัมภ์ให้สัตว์ทั้งหลายมีความเศร้าหมอง ลำบากกาย ลำบากใจ 

  • ๓.๓ อกิริยทิฏฐิ ความเห็นผิดคิดว่าการทำบุญทำบาปก็เท่ากับไม่ได้ทำ เป็นการปฏิเสธทั้งเหตุและผลแห่งกรรม คือ มีความเห็นว่าบุคคลทั้งหลายที่ ทำดีก็ตามทำชั่วก็ตามไม่เป็นบาปไม่เป็นบุญ สามัญผลสูตรได้แสดง อกิริยทิฏฐิ สรุปได้ดังนี้
    ๑.การทำดี การทำชั่ว จะทำด้วยตนเอง หรือใช้ผู้อื่นทำ ไม่ เป็นบุญไม่เป็นบาป
    ๒. การทำร้ายโดยการตัดอวัยวะผู้อื่น จะทำด้วยตนเอง หรือใช้ผู้อื่นทำ ไม่ เป็นบุญไม่เป็นบาป 
    ๓. การลงโทษโดยการเฆี่ยนตีทำให้เขาได้รับความทุกข์ จะทำด้วยตนเอง หรือใช้ผู้อื่นทำ ไม่ เป็นบุญไม่เป็นบาป
    ๔. การเอาทรัพย์ของคนอื่นมาทำให้เขาเศร้าโศกเสียใจ 
    จะทำด้วยตนเอง หรือใช้ผู้อื่นทำ ไม่เป็นบุญไม่เป็นบาป
    ๕. การลงโทษตนเองหรือแนะนำคนอื่น ให้ลงโทษตนเองให้ลำบากเหมือนตน ก็ไม่ชื่อว่าทำบาป
    ๖.ตนเองมีความกระวนวายใจเดือดร้อนใจ หรือทำให้คนอื่นกระวนกระวายใจเดือดร้อนใจ ก็ไม่ชื่อว่าทำบาป
    ๗. การฆ่าสัตว์ การลักทรัพย์ จะทำด้วยตนเอง หรือใช้ผู้อื่นทำ ไม่ เป็นบุญไม่เป็นบาป
    ๘. การประพฤติผิดในกาม การมุสา จะทำด้วยตนเอง หรือใช้ผู้อื่นทำ ไม่เป็นบุญไม่เป็นบาป

    เหตุเกิดของมิจฉาทิฏฐิ
    คัมภีร์อังคุตตรนิกาย เอกกนิบาต แสดงเหตุเกิดไว้เพียงเหตุเดียว คือ อโยนิโสมนสิการ (การใส่ใจผิด) ทุกนิบาต กล่าวไว้ ๒ ประการ คือ การฟังมิจฉาธรรมจากผู้อื่น และอโยนิโสมนสิการ
    อภิธัมมัตถวิภาวินีฎีกา กล่าวไว้ ๒ ประการ คือ การคบหากับคนที่เป็นมิจฉาทิฏฐิ และการมีอัชฌาสัยที่เป็นเหตุภายใน ทำให้เป็นมิจฉาทิฏฐิเอง

    การกำจัดมิจฉาทิฏฐิ ต้องศึกษาธรรมที่เป็นเหตุสร้างความเข้าใจถูกว่าอะไรถูกอะไรผิด คบกับสัตตบุรุษผู้เป็นคนดี การกำจัดมิจฉาทิฏฐิบางชนิดสามารถทำได้ด้วยวิปัสสนาญาณ มิจฉาทิฏฐิทั้งหลายจะหมดไปอย่างสิ้นเชิงได้ด้วยโสดาปัตติมรรค

    ผลบาปของ นิยตมิจฉาทิฏฐ
    นิยตมิจฉาทิฏฐิ ทั้ง ๓ นี้ ต่างก็ปฏิเสธบุญและบาป เป็นการปฏิเสธกรรม และผลของกรรมนั่นเอง เมื่อเป็นเช่นนี้ก็เป็นเหตุให้ท้อถอยในการทำความดี และสนับสนุนให้ทำความชั่ว จึงมีแต่หนทางที่จะนำไปสู่อบายภูมิเท่านั้น ความเห็นผิดเช่นนี้แม้พระพุทธองค์ก็ไม่สามารถที่จะไปช่วยเหลือแก้ไขได้ ต้องปล่อยให้เป็นไปตามกรรมของบุคคลเหล่านั้น

    สรุป มโนกรรม ๓ คือ อภิชฌา พยาบาท มิจฉาทิฏฐิ เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็จะ ยังผลให้เกิดอกุศลกรรมอื่นได้ดังนี้

    อภิชฌา มื่อความโลภเกิดขึ้น จะผลักดันให้ทำอกุศล ๖ คือ
    ๑. อทินนาทาน
    ๒. กาเมสุมิจฉาจาร
    ๓. มุสาวาท
    ๔. ปิสุณวาจา
    ๕. สัมผัปปลาปะ
    ๖. มิจฉาทิฏฐิ

    พยาบาท เมื่อความโกรธเกิดขึ้น จะผลักดันให้ทำอกุศล ๖ คือ
    ๑. ปาณาติบาต
    ๒. อทินนาทาน
    ๓. มุสาวาท
    ๔. ปิสุณวาจา
    ๕. ผรุสวาจา
    ๖. สัมผัปปลาปะ

    มิจฉาทิฏฐิ เมื่อความเห็นผิดเกิดขึ้น จะผลักดันให้ทำอกุศล ๑๐ คือ ๑. ปาณาติบาต
    ๒. อทินนาทาน
    ๓. กาเมสุมิจฉาจาร
    ๔. มุสาวาท 
    ๕. ปิสุณวาจา 
    ๖. ผรุสวาจา 
    ๗. สัมผัปปลาปะ
    ๘. อภิชฌา
    ๙. พยาบาท
    ๑๐. มิจฉาทิฏฐ

    เมื่อทราบว่าอกุศลมีอะไรบ้าง และผลแห่งอกุศลจะนำพาให้ได้รับทุกข์ รับโทษอย่างไรแล้ว ต่อไปให้ศึกษาต่อเรื่องกุศล คือ กามาวจรกุศล รูปาวจรกุศล อรูปาวจรกุศล


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น