วันอาทิตย์

นัยที่ ๒ รูปวิภาคนัย

คำว่า มาติกา หมายถึงแม่บท ในนัยที่ ๒ นี้ มีการจำแนกรูป ๒๘ ออกเป็น ๒ มาติกาด้วยกัน คือ
๑. เอกมาติกา การจำแนกรูปทั้งหมดเป็นอย่างเดียวกัน
๒. ทุกมาติกา การจำแนกรูปทั้งหมดเป็นสองอย่าง

๑. เอกมาติกา การจำแนกรูปทั้งหมดเป็นอย่างเดียวกัน
เป็นการกล่าวรูป ๒๘ โดยการสรุปให้ทราบถึงความเป็นจริงของรูปอีกรูปแบบหนึ่งที่แตกต่างไปจาก รูปแบบในนัยที่ ๑ กล่าวคือในนัยที่ ๑ แสดงให้เห็นรูป ๒๘ ที่ละหมวดและแสดงในทราบว่าในหมวดนั้นๆ ประกอบด้วยรูปเท่าไหร่อะไรบ้าง และก็ยังแสดงให้ทราบอีกว่า รูปแต่ละรูปนั้นมีสภาวลักษณะของตนๆ เป็นอย่างไร เช่น ในหมวดมหาภูตรูป ๔ ประกอบด้วย ปฐวี อาโป เตโช วาโย และปฐวีมีลักษณะที่แข็ง เป็นต้น ส่วนในการจำแนกรูป ๒๘ โดยนัยวิภาคนัยนี้จะมุ่งหมายกล่าวว่ารูปทั้ง ๒๘ นั้นมีสภาวะทั้งหมดเป็นอย่างไร ซึ่งเราจะศึกษากันต่อไป รูปทั้งหมดเมื่อกล่าวโดยเอกมาติกาแล้วมีชื่อเรียกตามสภาวะได้ ๘ คือ


๑. อเหตุกะ
ชื่อว่า อเหตุกะ เพราะว่ารูป ๒๘ นี้ เกิดขึ้นโดย ไม่ต้องอาศัยเหตุ ๖
เหตุ ๖ คือ โลภเหตุ โทสเหตุ โมหเหตุ อโลภเหตุ อโทสเหตุ อโมหเหตุ
๒. สปัจจยะ
ชื่อว่า สปัจจยะ เพราะว่ารูป ๒๘ นี้ เกิดขึ้นจากกรรม จิต อุตุ อาหาร เป็นเหตุ เป็นปัจจัย
๓. สาสวะ
ชื่อว่า สาสวะ เพราะว่ารูป ๒๘ นี้ ก่อให้เกิด อาสวะกิเลส
อาสวะกิเลส คือ กามาสวะ ภวาสวะ ทิฏฐาสวะ อวิชชาสวะ
๔. สังขตะ
ชื่อว่า สังขตะ เพราะว่ารูป ๒๘ นี้ เกิดขึ้นจากกรรม จิต อุตุ อาหาร เป็นผู้ปรุงแต่ง
๕. โลกียะ
ชื่อว่า โลกียะ เพราะว่ารูป ๒๘ นี้ ต้องมีการแตกดับอยู่เสมอๆ
๖. กามาวจระ
ชื่อว่า กามาวจระ เพราะว่ารูป ๒๘ นี้ เป็นเหตุให้เกิดความยินดียินร้าย ซึ่งเป็นอารมณ์ของกามาวจรจิต
๗. อนารัมมณะ
ชื่อว่า อนารัมมณะ เพราะว่ารูป ๒๘ นี้ ไม่สามารถรับรู้อารมณ์ใดๆ ได้
การที่เรายังรับรู้อารมณ์ได้ก็เพราะว่ามีจิต
๘. อัปปหาตัพพะ
ชื่อว่า อัปปหาตัพพะ เพราะว่ารูป ๒๘ นี้ เป็นสิ่งที่ไม่ควรฆ่าหรือทำลาย แต่สิ่งควรฆ่าทำลายนั้น ได้แก่ กิเลสและตัณหา

สรุปได้ว่ารูป ๒๘ นี้จะเรียกชื่ออย่างใดอย่างหนึ่งใน ๘ ชื่อนี้ก็ได้ ซึ่งก็จะมีความหมายตามลักษณะของชื่อนั้น


๒. ทุกมาติกา การจำแนกรูปทั้งหมดเป็นสองอย่าง
เป็นการแบ่งรูป ๒๘ ออกเป็นคู่ๆ ซึ่งมีความหมายตรงกันข้ามกัน จำแนกได้ ๑๑ คู่ คือ

คู่ที่ ๑ อัชฌัตติกรูป คู่กับ พาหิรรูป
อัชฌัตติกรูป คือ รูปภายใน ได้แก่ ปสาทรูป ๕ ประสาทตา หู จมูก ลิ้น กาย พาหิรรูป คือ รูปภายนอก ได้แก่ รปูที่เหลือ ๒๓ รูป

อัชฌัตติกรูป มุ่งหมายเอาประโยชน์ของรูปทั้ง ๕ เป็นสำคัญ ส่วนรูปที่เหลือ ๒๓ นั้นเป็นรูปที่มีประโยชน์น้อยจึงเรียกว่าพาหิรรูป อุปมาอัชฌัตติกรูป เหมือนคนภายในบ้าน พาหิรรูปเหมือนคนนอกบ้าน
คู่ที่ ๒ วัตถุรูป คู่กับ อวัตถุรูป
วัตถุรูป คือ รูปที่เป็นที่อาศัยเกิดของจิตและเจตสิก ได้แก่ ปสาทรูป ๕ และ หทัยวัตถุ ๑ อวัตถุรูป คือ รูปที่ไม่เป็นที่อาศัยเกิดของจิตและเจตสิก ได้แก่ รูปที่เหลือ ๒๒ อุปมาเหมือนเครื่องบินที่เป็นที่อาศัยของคนธรรมดาที่ต้องการเดินทางไปทางอากาศ
คู่ที่ ๓ ทวารรูป คู่กับ อทวารรูป
ทวารรูป คือ รูปที่เปรียบเหมือนเป็นประตูในการทำบุญทำบาป และเป็นเหตุให้เกิดวิถีจิต ได้แก่ ปสาทรูป ๕ (ตา หู จมูก ลิ้น กาย) และ วิญญัติรูป ๒ อทวารรูป คือรูปที่ไม่เป็นเหตุให้ทำบุญ ทำบาป ได้แก่ รูปที่เหลือ ๒๑ มี ปถวี อาโป เตโช เป็นต้น
คู่ที่ ๔ อินทริยรูป คู่กับ อนินทริยรูป
อินทริยรูป คือ รูปที่ทำหน้าที่เป็นใหญ่ ในการรับอารมณ์ต่างๆ มีการเห็นเป็นต้น ได้แก่ปสาทรูป ๕ และชีวิตรูป ๑ อนินทริยรูป คือ รูปที่ไม่เป็นใหญ่ ในการรับอารมณ์ต่างๆ ได้แก่ รูปที่เหลือ ๒๐
คู่ที่ ๕ โอฬาริกรูป คู่กับ สุขุมรูป
โอฬาริกรูป คือรูปหยาบ หมายถึง รูปที่ปรากฏชัด ได้แก่ ปสาทรูป ๕ และ วิสยรูป ๗ สุขุมรูป คือรูปละเอียด หมายถึง รูปที่ไม่ปรากฏชัด ได้แก่ รูปที่เหลือ ๑๖
คู่ที่ ๖ สันติเกรูป คู่กับ ทูเรรูป
สันติเกรูป คือ รูปใกล้หมายถึงรูปที่รู้ได้ง่าย ได้แก่ ปสาทรูป ๕ และ วิสยรูป ๗ ทูเรรูป คือ รูปไกล เป็นรูปที่รู้ได้ยาก ได้แก่ รูปที่เหลือ ๑๖
คู่ที่ ๗ สัปปฏิฆรูป คู่กับ อัปปฏิฆรูป
สัปปฏิฆรูป คือรูปที่กระทบซึ่งกันและกันได้ เช่นเสียงมากระทบที่หู ทำให้เกิดการได้ยิน ได้แก่ปสาทรูป วิสยรูป ๗ อัปปฏิฆรูป คือรูปที่กระทบซึ่งกันและกันไม่ได้ ได้แก่ รูปที่เหลือ ๑๖
คู่ที่ ๘ อุปาทินนรูป คู่กับ อนุปาทินนรูป
อุปาทินนรูป คือ รูปที่เกิดจากกรรม คือ กรรมชรูป ๑๘ ได้แก่ ปสาทรูป ๕ ภาวรูป ๒ หทยรูป ๑ ชีวิตรูป ๑ ปริจเฉทรูป ๑ และ อวินิพโภครูป ๘ (คือ ปฐวี อาโป เตโช วาโย วัณณะ คันธะ รสะ โอชา) อนุปาทินนรูป คือรูปที่ไม่ได้เกิดจากกรรม ได้แก่ จิตตชรูป๑๕ อุตุชรูป๑๓ อาหารชรูป๑๒
คู่ที่ ๙ สนิทัสสนรูป คู่กับ อนิทัสสนรูป
สนิทัสสนรูป คือรูปที่เห็นด้วยตาได้ ได้แก่ วัณณรูป สีต่าง ๆ เท่านั้นที่เห็นได้ด้วยตาส่วนรูปที่เหลือ ๒๗ นั้น เป็นที่โคจรของรูปารมณ์ เห็นด้วยตาไม่ได้ อนิทัสสนรูป รูปที่เห็นด้วยตาไม่ได้ ได้แก่ รูปที่เหลือ ๒๗
คู่ที่ ๑๐ โคจรัคคาหกรูป คู่กับ อโคจรัคคาหกรูป
โคจรัคคาหกรูป คือ รูปที่เป็นที่อาศัยเกิดขึ้นของอารมณ์ทั้ง ๕ (เช่นจักขุปสาทรูป ปสาทรูป ๕) อโคจรัคคาหกรูป คือรูปที่ไม่เป็นที่อาศัยเกิด ได้แก่ รูปที่เหลือ ๒๓
คู่ที่ ๑๑ อวินิพโภครูป คู่กับ วินิพโภครูป
อวินิพโภครูป คือรูปที่แยกจากกันไม่ได้ รูปหนึ่งๆ ต้องมีรูปเกิดขึ้นอย่างน้อย ๘ รูปเสมอ ได้แก่ ปฐวี อาโป เตโช วาโย วัณณะ คันธะ รสะ โอชา วินิพโภครูป รูปที่แยกจากกันได้ ได้แก่ รูปที่เหลือ ๒๐

สรุป การศึกษาเรื่องรูป ๒๘ โดยนัยต่างๆ ในบทเรียนชุดที่ ๕ ตอนที่ ๑ ที่ผ่านมาศึกษาเฉพาะ ๒ นัย แต่ ละนัยก็มีการแสดงรายละเอียดของรูป ๒๘ หลายแง่มุม แต่ละแง่มุมก็จะทำให้รู้จักรูปอย่างละเอียด ความรู้ที่ได้จาก การศึกษาเรื่องรูปหลายแง่มุมนี้จะเป็นประโยชน์อย่างมากแก่การนำไปปฏิบัติ เพราะการศึกษาปริยัติอย่างดี อย่างถูกต้องก็จะทำให้เกิดปัญญาที่ถูกต้องและเมื่อปฏิบัติก็จะเกิดผล และเป็นเหตุแห่งการบรรลุธรรมได้ในอนาคต


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น