วันอาทิตย์

นัยที่ ๕ รูปปวัตติกมนัย

รูปปวัตติกมนัย เป็นการแสดงการเกิด - ดับของรูป ๒๘ ของสัตว์ทั้งหลาย ซึ่งธรรมดาของรูปนามขันธ์ ๕ ย่อมมีความไม่เที่ยง มีความแปรปรวนเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ไม่ใช่ตัวตนที่จะบังคับบัญชาให้คงสภาพเดิมอยู่ได้ คือ ต้องตกอยู่ในกฎของไตรลักษณ์ ดังนั้นรูปร่างกายของคน สัตว์ ย่อมจะต้องมีการเกิด-ดับ ในหมวดนี้ท่านจึงแสดงความเกิดดับของรูปไว้ ๓ นัย คือ

๑. ตามนัยแห่งภูมิ แสดงการเกิด-ดับของรูป ที่เกิดขึ้นในภพภูมิต่างๆ
๒. ตามนัยแห่งกาล แสดงการเกิด-ดับของรูปที่เกิดขึ้นในกาลต่างๆ
๓. ตามนัยแห่งกำเนิด การเกิด-ดับของรูปตามประเภทแห่งการเกิด

รูป ๒๘ มี ดิน น้ำ ไฟ ลม จักขุ โสตะ ฆานะ ชิวหา กายะ เป็นต้นนั้น ในแต่ละภูมิก็มีรูปเกิดได้จำนวนไม่เท่ากัน ต่อไปจะศึกษาเรื่องภูมิใดจะมีรูปเกิดได้เท่าไร อะไรบ้าง ๑.๑ ใน ๓๑ ภูมิ มีรูปเกิดได้อย่างไร ภูมิอันเป็นที่เกิดของสัตว์ทั้งหลายมีทั้งหมด ๓๑ ภูมิ แบ่งเป็น
๑. กามภูมิ
๒. รูปภูมิ
๓. อรูปภูมิ

๑.๑.๑ กามภูมิ มี ๑๑ ภูมิ กามภูมิเป็นภูมิที่เกิดของสัตว์ทั้งหลาย คือ มนุษย์ เทวดา สัตว์ ดิรัจฉาน ตลอดจนสัตว์นรก มีรูปทั้ง ๒๘ เกิดได้ แต่ถ้าเกิดเป็นหญิงก็เว้นปุริสภาวะรูป ถ้าเกิดเป็นชายก็เว้นอิตถีภาวะรูป ส่วนในคนที่พิการแต่กำเนิด เช่น ตาบอด ฯลฯ ก็จะไม่มีจักขุปสาทรูปเกิด
๑.๑.๒ รูปภูมิ มี ๑๖ ภูมิ แบ่งเป็นภูมิที่รูปขันธ์และนามขันธ์ มี ๑๕ ภูมิ ภูมิที่มีแต่รูปอย่างเดียวมี ๑ คือ อสัญญสัตวพรหมภูมิ ในรูปภูมินั้นจะมีรูปเกิดได้ ๒๓ รูป (เว้น ฆานะ ชิวหา กายะ และภาวรูปทั้ง ๒) ในอสัญญสัตพรหมภูมิ ๑ จะมีรูปเกิดได้เพียง ๑๗ รูป (เว้นปสาทรูปทั้ง ๕ สัททรูป ๑ ภาวรูป ๒ หทยรูป ๑ วิญญัติรูป ๒)
๑.๑.๓ อรูปภูมิ มี ๔ ภูมิ เป็นภูมิที่ไม่มีรูปมีแต่นามเท่านั้น ด้วยอำนาจของปัญจมฌาน ที่ไม่ปรารถนาจะมีรูป รูปจึงเกิดขึ้นไม่ได้

๑. ตามนัยแห่งภูมิ

แสดงการเกิด-ดับของรูปในภูมิต่าง ๆ ๓๑ ภูมิ

ใน กามภูมิ ๑๑
ภพภูมินี้ รูป ๒๘ เกิดได้หมด ประกอบด้วยภพ
• นรก ๑
• เปรต ๑
• อสุรกาย ๑
• เดรัจฉาน ๑
• มนุษย์ ๑
• เทวภูมิ ๖

ใน รูปภูมิ ๑๕
ภพภูมินี้ รูปเกิดได้ ๒๓ รูป (เว้นฆานปสาท ๑, ชิวหาปสาท ๑, กายปสาท ๑, ภาวรูป ๒)
• ปฐมฌานภูมิ ๓
• ทุติยฌานภูมิ ๓
• ตติยฌานภูมิ ๓
• จตุตถฌานภูมิ ๖

ใน อสัญญสตัตภมูิ ๑
ภพภูมินี้ รูปเกิดได้เพียง ๑๗ รูป เท่านั้น คืออวินิพโภครูป ๘, ชีวิตรูป ๑, ปริจเฉทรูป ๑, วิการรูป ๓, ลักขณรูป ๔

ใน อรูปภูมิ ๔
ภพภูมินี้ ไม่มีรูปเกิดขึ้นได้เลย

ในภูมิต่างๆ รูปเกิดจากสมุฎฐานใดบ้าง
กามภูมิ ๑๑ เกิดจากสมุฏฐาน ๔ คือ
เกิดจากกรรม ๑๘ รูป
เกิดจากจิต ๑๕ รูป
เกิดจากอุตุ ๑๓ รูป
เกิดจากอาหาร ๑๒ รูป

รูปภูมิ ๑๕ เกิดจากสมุฏฐาน ๓ คือ
เกิดจากกรรม ๑๓ รูป
เกิดจากจิต ๑๕ รูป
เกิดจากอุตุ ๑๓ รูป

อสัญญสัตตภูมิ ๑ เกิดจากสมุฏฐาน ๒ คือ
เกิดจากกรรม ๑๐ รูป
เกิดจากอุตุ ๑๒ รูป

๒. ตามนัยแห่งกาล

โดยนัยแห่งกาล เป็นการแสดงการเกิด-ดับของรูป ๒๘ ตามกาลว่ากาลใดมีรูปเกิดได้ และกาลใด รูปเกิดไม่ได้ คำว่า “กาล” มี ๓ กาล คือ
๑. ปฏิสนธิกาล หมายถึง เวลาที่นาม-รูป เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในภพใหม่
๒. ปวัตติกาล หมายถึง เวลาที่นาม-รูป มีชีวิตดำเนินไปในชาตินั้นๆ
๓. จุติกาล หมายถึง เวลาที่นาม-รูป ตายจากภพชาตินั้นๆ

ในกาลทั้ง ๓ มีรูปเกิดได้อย่างไร
ปฏิสนธิกาล (ขณะเกิด)
รูปที่เกิดได้ มี ๒๐ คือ
ปสาทรูป ๕ ภาวรูป ๒ หทยรูป ๑ ชีวิตรูป ๑ อวินิพโภครูป ๘ ปริจเฉทรูป ๑ อุปจยรูป ๑ และ สันตติรูป ๑
รูปที่เกิดไม่ได้ มี ๘ คือ
สัททรูป ๑ วิญญัติรูป ๒ วิการรูป ๓ ชรตารูป ๑ และ อนิจจตารูป ๑

ปวัตติกาล (ขณะดำรงชีวิต)
รูปที่เกิดได้ มี ๒๘ คือ
เกิดได้ตามสมควรแก่ภูมิ หรือตามสมควรแก่กำเนิด เกิดได้ครบทั้ง ๔ สมุฎฐานได้แก่ กรรมสมุฏฐาน จิตตสมุฏฐาน อุตุสมุฏฐาน และอาหารสมุฏฐาน

จุติกาล (ขณะตาย)
รูปที่เกิดได้ คือ
จิตตชรูปของสัตว์ในปัญจโวการภูมิ เกิดในอุปปาทักขณะของจิตและตั้งอยู่จนครบอายุแล้วจึงดับ (เว้นจุติจิตของพระอรหันต์)
อาหารชรูป เกิดได้อีก ๕๐ อนุขณะของจุติจิต
อุตุชรูป เกิดได้ตลอดจนกระทั่งตอนเป็นซากศพ
รูปที่เกิดไม่ได้ คือ
กรรมชรูปทั้งหมดที่นับถอยหลังไป ๑๗ ขณะ จากจุติจิต และ จิตตชรูปของพระอรหันต์

๓. ตามนัยแห่งกำเนิด

ในบรรดาสัตว์ทั้งหลายที่เกิดในภูมิทั้ง ๓๑ ภูมิ จะมีลักษณะการเกิดได้ ๔ อย่าง คือ
๑) อัณฑชะกำเนิด (เกิดจากไข่) ได้แก่ ไก่ นก จิ้งจก ตุ๊กแก งู เป็นต้น
๒) ชลาพุชะกำเนิด (เกิดจากครรภ์) ได้แก่ พวกที่อาศัยเกิดจากครรภ์มารดาและคลอดออกมาเป็นตัวหรือทารกเล็กๆ แล้วค่อยเจริญเติบโตมาตามลำดับได้แก่ มนุษย์ สัตว์เดรัจฉาน เทวดาชั้นต่ำบางพวก เป็นต้น
๓) สังเสทชะกำเนิด (เกิดจากเถ้าไคล) การเกิดชนิดนี้ไม่ต้องอาศัยบิดามารดา คือ จะอาศัยเถ้าไคล หรือยางเหนียวที่ชุ่มชื้นมีอุณหภูมิเหมาะสมเป็นที่อาศัยเกิดของสัตว์ชนิดนี้ เช่น หนอนในปลาเน่า มอดในข้าวสาร เป็นต้น มนุษย์ที่เกิดจากดอกไม้ ต้นไม้ ผลไม้ เช่น นางจิญจมานวิกา เกิดจากต้นมะขาม นางเวฬุวดี เกิดจากต้นไผ่ นางปทุมวดี เกิดจากดอกบัว เป็นต้น
๔) โอปปาติกกำเนิด (เกิดขึ้นโตทันที) คือ เกิดแล้วโตทันที ไม่ต้องอาศัยครรภ์มารดา หรือที่ชื้นแฉะแต่อย่างใด แต่อาศัยอดีตกรรมอย่างเดียว โดยการผุดเกิดขึ้นมีรูปร่างใหญ่โตทันที ได้แก่ เทวดา เปรต อสุรกาย มนุษย์ต้นกัป เป็นต้น
ในกำเนิดทั้ง ๔ ยังสามารถจัดกลุ่มการเกิดได้อีก ๒ แบบ คือ เอาแบบที่ ๑ และ ๒ รวมกัน เรียกว่า คัพภไสยยกกำเนิด หมายถึงสัตว์ที่ต้องอาศัยครรภ์มารดาเกิด ส่วนสังเสทชะกำเนิดและโอปปาติกกำเนิด ทั้งสองนี้ไม่ต้องอาศัยครรภ์มารดาเกิด

ปฏิสนธิวิญญาณจะเกิดในครรภ์มารดาได้นั้นต้องประกอบด้วยเหตุ ๓ ประการ คือ
๑. มารดาบิดาอยู่ร่วมกัน
๒. มารดาอยู่ในวัยมีประจำเดือน
๓. มีปฏิสนธิวิญญาณมาเกิด

เมื่อวิญญาณปฏิสนธิในครรภ์มารดาแล้ว รูปต่างๆ จะเกิดขึ้นเจริญตามลำดับดังนี้ คือ
สัปดาห์แรก เป็นกลละ มีลักษณะเป็นหยาดน้ำใสเหมือนน้ำมันงา มีปริมาณเท่ากับหยาดน้ำมันที่ติดอยู่ที่ปลายขนจามรีที่สลัดแล้ว ๗ ครั้ง
สัปดาห์ที่ ๒ เป็นอัพพุทะ มีลักษณะเป็นฟอง มีสีเหมือนน้ำล้างเนื้อ
สัปดาห์ที่ ๓ เป็นเปสิ มีลักษณะเป็นชิ้นเนื้อ ชิ้นเนื้อมีลักษณะเหลวคล้ายกับดีบุก
สัปดาห์ที่ ๔ เป็นฆนะ มีลักษณะเป็นก้อนมีสัณฐานเหมือนไข่ไก่
สัปดาห์ที่ ๕ เป็นปัญจสาขา มีลักษณะเกิดปุ่มขึ้น ๕ แห่ง เพื่อเป็นศีรษะ ๑ มือและเท้าอย่างละ ๒
สัปดาห์ที่๖-๔๒ จะเกิดอวัยวะต่าง ๆ และในสัปดาห์ที่ ๑๑ เป็นสัปดาห์ที่จะเกิด จักขุปสาทรูป โสตปสาทรูป ฆานะปสาทรูป ชิวหาปสาทรูป กายปสาทรูป ทารกที่อยู่ในครรภ์มารดาจะมีสายสะดือของทารกติดกับแผ่นท้องของมารดา สายสะดือจะมีลักษณะเป็นรูเหมือนก้านบัว เมื่อมารดาบริโภคอาหารเข้าไปแล้ว สารอาหารจะไปเลี้ยงทารกทางสายสะดือ จนกระทั่งทารกมีอายุ ๑๐ เดือน จึงคลอดออกมา
หมายเหตุ ๑ เดือน นับตามปีจันทรคติ มี ๒๘ วัน ทารกอายุ ๑๐ เดือน เท่ากับ ๒๘๐ วัน แต่ในปัจจุบัน ๑ เดือน นับตามปีสุริยคติมี๓๐ วัน ในปัจจุบันจึงนับว่าทารกจะอยู่ในครรภ์มารดาประมาณ ๙ เดือนหรือกว่านั้น โดยทางแพทย์จะนับจำนวนวันเท่ากับจำนวนวันทางจันทรคติ คือ ๒๘๐ วันเช่นกัน

สรุป

เรื่องรูปปรมัตถ์ที่ได้แสดงมาแล้วโดยนัยทั้ง ๕ นั้น เพื่อประโยชน์ในการพิจารณารูปทั้งหลายที่เกิดขึ้นกับสัตว์ดิรัจฉาน มนุษย์ เทวดา พรหม เป็นอย่างไร? มีอะไรบ้าง? ความรู้ที่ละเอียดลึกซื้งอย่างนี้มีได้ก็ด้วยพระสัพพัญญุตญาณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วพระองค์ทรงแสดงความจริงอย่างนี้แก่สาวก สาวกจึงนำมาสั่งสอนต่อไป เมื่อได้ศึกษาเรื่องจิต เจตสิก และรูป มาแล้วก็ควรนำประโยชน์จากการศึกษาไปพิจารณาเพื่อหยั่งลงสู่การปฏิบัติเพื่อให้ปัญญาเกิดขึ้นได้ โดยการพิจารณาตามความเป็นจริงของนาม (คือ จิตและเจตสิก) และพิจารณาตามความเป็นจริงของรูป คือ รูปทั้ง ๒๘ ว่าอะไรคือรูป อะไรคือนาม เมื่อพิจารณาลักษณะของนามและรูปโดยความเป็นจริงได้บ่อยๆ ปัญญาก็จะเกิดขึ้น โดยพึงพิจารณาถึงรูปอย่างถูกต้องพิจารณาเห็นจิตที่รู้รูปนั้นว่าเป็นเพียงนาม เป็นเพียงรูป ไม่ใช่ สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่หญิง ไม่ใช่ชาย ไม่ใช่ใคร ไม่ใช่ของใคร ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ตน ไม่ใช่ของตน ดังนี้ การรู้จักนามรู้จักรูปตามความเป็นจริงอย่างนี้เป็นการเริ่มต้นเจริญวิปัสสนาอย่างถูกต้อง บุคคลผู้สามารถเริ่มต้นเจริญวิปัสสนาอย่างถูกต้องตามหลักปริยัติอย่างนี้จึงจะเห็นแจ้งพระนิพพานบรรลุธรรมในภายต่อไปได้


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น