วันพุธ

กิจในอริยสัจ ๔

กิจ คือ หน้าที่ในอริยสัจ ๔ ข้อใดมีหน้าที่อย่างไร รวมเรียกว่า ไตรปริวัฏ ทวาทสาการ แปลว่า ๓ รอบ ๑๒ อาการ หมายถึง ญาณ ๓ ในอริยสัจ ๔ ผู้รู้อริยสัจ ๔ ที่เรียกว่ารู้จริง รู้แล้วพ้นทุกข์ได้ ต้องรู้ประกอบด้วยญาณ ๓ อาการ ๑๒ นี้ ที่คนสามัญรู้นั้นเป็นความจำ ไม่ใช่ความรู้ที่แท้จริง ยังปฏิบัติตามที่รู้ไม่ได้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงพระมหากรุณา ตรัสเทศนาโพธิปักขิยธรรม ปฏิจจสมุปบาทและอริยสัจ ๔ ธรรมทั้ง ๓ นี้มีอรรถเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน ประดุจดังดุมเกวียน กำเกวียน และกงเกวียน จึงได้ชื่อว่า พระธรรมจักร

(ตารางแผนญาณ ๓หรือรอบ ๓ อาการ ๑๒ ในอริยสัจ ๔)

สัจจญาณ

กิจจญาณ

กตญาณ

ทุกข์

ยอมรับว่าความทุกข์แห่งชีวิตมีอยู่จริง ชีวิตคลุกเคล้าไปด้วยความทุกข์จริง

รู้ว่าความทุกข์เป็นสิ่งที่กำหนดความรู้ คือ ควรทำความเข้าใจ (ปริญเญยยธรรม)

รู้ว่าได้กำหนดรู้แล้วหรือทำความเข้าใจแล้ว

สมุทัย

ยอมรับว่าสมุทัยคือตัณหา เป็นเหตุให้เกิดทุกข์จริง

รู้ว่าสมุทัยคือตัณหา เป็นสิ่งควรละ (ปหาตัพพธรรม)

รู้ว่าละได้แล้ว

นิโรธ

ยอมรับว่านิโรธคือความทุกข์มีอยู่จริง ความทุกข์สามารถดับได้จริง โดยผ่านทางการดับตัณหา

รู้ว่านิโรธควรทำให้แจ้งขึ้นในใจ (สัจฉิกาตัพพธรรม)

รู้ว่าได้ทำให้แจ้งแล้ว

มรรค

ยอมรับว่ามรรคมีองค์ ๘ เป็นทางนำไปสู่ความดับทุกข์จริง

รู้ว่ามรรคเป็นสิ่งที่ควรอบรมบำเพ็ญให้เกิดมี (ภาเวตัพพธรรม)

รู้ว่าได้เจริญอบรมให้เต็มที่แล้ว


พระธรรมจักรแบ่งออกเป็น ๒ ประการ คือ
๑.ปฏิเวธญาณธรรมจักร ด้แก่ พระญาณอันตรัสรู้อริยสัจ ๔ มีปริวัฏฏ์ ๓ มีอาการ ๑๒ ประหารข้าศึก คือ กิเลสเสียได้ เป็นสมุจเฉทปหาน ขาดจากสันดานแห่งพระองค์แล้ว และนำมาซึ่งอริยผล
๒.เทศนาญาณธรรมจักร ได้แก่ พระญาณอันอบรมด้วยพระมหากรุณาธิคุณ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสเทศนาอริยสัจ มีปริวัฏฏ์ ๓ มีอาการ ๑๒ ยังสาวกทั้งหลาย มีพระอัญญาโกณฑัญญะเป็นประธานให้ได้สำเร็จอริยมรรคอริยผล ตัดกิเลสเป็นสมุจเฉทปหาน

ญาณธรรมจักรซึ่งพระพุทธองค์ตรัสเทศนาอริยสัจ มีปริวัฏฏ์ ๓ ประการนั้นได้แก่
๑.สัจจญาณ คือ พระปรีชาญาณอันตรัสรู้ซึ่งอริยสัจด้วยพระองค์เอง จะมีบุคคลผู้หนึ่ง ผู้ใดเป็นครูอาจารย์ของพระองค์นั้นหามิได้
๒.กิจจญาณ คือ พระปรีชาญาณอันแทงตลอดในกิจแห่งอริยสัจ ๔ ตรัสรู้แจ้งว่าทุกขสัจนี้ สมควรที่พระอริยบุคคลจะพึงกำหนดรู้ สมุทัยสัจนี้สมควรที่พระอริยบุคคลจะพึงละเสีย นิโรธสัจคือพระนิพพานนั้น สมควรที่พระอริยบุคคลจะพึงกระทำให้แจ้งในขันธสันดาน มรรคสัจอันเป็นทางปฏิบัติให้ถึงซึ่งการดับทุกข์นั้น สมควรที่พระอริยบุคคลจะพึงเจริญไว้ในสันดาน
๓.กตญาณ คือ พระปรีชาญาณอันรู้แจ้งกิจแห่งอริยสัจ ๔ อันกระทำเสร็จแล้ว และรู้ว่าตนได้กำหนดรู้ทุกขสัจเป็นอารมณ์อยู่แล้ว รู้ว่าสมุทัยสัจคือตัณหานั้น ได้ละขาดจากสันดานแล้ว รู้ว่านิโรธสัจคือพระนิพพานนั้นตนได้กระทำประจักษ์แจ้งในสันดานแล้ว รู้ว่ามรรคสัจอันเป็นทางปฏิบัติให้ถึงซึ่งความดับทุกข์นั้น ตนได้เจริญบริบูรณ์แล้ว


อริยสัจ ๔ เป็นแก่นสำคัญของพระพุทธศาสนา พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงยืนยันว่า จักรคือธรรมที่พระองค์หมุนไปแล้วนี้ใครๆ จะหมุนกลับไม่ได้ ใครหมุนกลับก็เป็นการหมุนไปสู่ทางที่ผิด พระปัญญาตรัสรู้ของพระองค์ จึงเป็นความจริงสากลอันมีรากฐานอยู่ที่เหตุผล และเป็นความจริงอันจำเป็นที่สุด

เหตุผลสำคัญในการแทงตลอดอริยสัจ ๔ คือ การละตัณหาได้ การที่จะละตัณหาได้ต้องอาศัยการเดินตามมรรคมีองค์ ๘ เมื่อมรรคมีองค์ ๘ บริบูรณ์ เป็นมรรคสมังคี คือ การรวมตัวกันอย่างสมส่วน ทำหน้าที่ทำลายตัณหา อุปาทาน และอวิชชาให้พินาศ การเห็นแจ้งในนิพพานก็เกิดขึ้นความทุกข์ในสังสารวัฏก็สิ้นไป

อริยสัจ ๔ เป็นความจริงที่ยั่งยืนอยู่คู่กับชีวิตของมนุษย์ตั้งแต่บรรพกาลมาจนบัดนี้ และจะยั่งยืนต่อไปในอนาคตไม่มีที่สิ้นสุด เมื่อใดที่มนุษย์สามารถปฏิบัติจนเกิดภาวนามยปัญญาได้ เมื่อนั้นก็สามารถจะรู้เข้าใจ แทงตลอดในอริยสัจได้

🙏 กิจในอริยสัจ ๔



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น