วันอาทิตย์

๑.๔ ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน

ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน 

เป็นหลักการใช้สติพิจารณาธรรมอันเป็นสภาวะโดยรวมทั้งรูปธรรมและนามธรรม ทั้งภายนอกและภายใน ในการพิจารณากำหนดรู้สภาวธรรมนั้น ต้องกำหนดรู้ไปตามลำดับ ตั้งแต่อย่างหยาบไปจนถึงอย่างละเอียดที่สุด ซึ่งเป็นข้อปฏิบัติที่ลึกซึ้งกว่าการเห็นกาย เวทนา และจิตอย่างใดอย่างหนึ่ง ตามที่ได้ศึกษาผ่านมาแล้ว ถ้าหากพิจารณาในข้อปฏิบัตินี้ให้ตรงจุดอันเป็นการปฏิบัติแบบพิจารณา ธรรมคือรู้ความจริง
แบบสัจจะ คือ อริยสัจจ์ การปฏิบัติไม่ใช่แค่ให้กำหนดรู้เรื่องสภาวธรรมอันเป็นทุกข์ทั้งปวง เท่านั้น แต่ยังต้องมีการกำหนดรู้ทาง แห่งการดับทุกข์รวมไว้ด้วย 

เริ่มต้นพิจารณา ให้รู้โดยเปรียบเทียบว่า เราเหมือนกับถูกย่างอยู่ในเพลิงทุกข์อย่างไร โดยเริ่มพิจารณาจากทุกข์หยาบๆ เช่น ความใคร่ในกาม ความพยาบาท ความหดหู่ ความฟุ้งซ่าน และความลังเลสงสัย ต้องศึกษาและปฏิบัติวิธีการเอาตัวออกมาจากไฟเสียก่อน แล้วจึงค่อยคิดกำจัดเชื้อไฟ อาวุธสำคัญของการเจริญธัมมานุปัสสนา คือ ต้องรู้เข้าไปในธรรมทั้งปวงว่ามีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา ไม่มีอะไรน่ายึดมั่นถือมั่นแม้แต่นิดเดียว 
 

ว่าด้วยการใช้สติ
พิจารณานิวรณ์ 

ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้พิจารณาธรรม (คือรูปนาม) ให้เห็นเป็นเพียงสภาวธรรมทั้งหลายอยู่ ดังต่อไปนี้:
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พิจารณาธรรม (คือรูปนาม)ให้เห็นเป็นเพียงสภาวธรรมทั้งหลาย กล่าวคือ นิวรณ์๕ ดังนี้:
๑. เมื่อกามฉันทะ (ความยินดีพอใจหรือโลภะตัณหา ) มีอยู่ภายในจิตสันดานก็ให้กำหนด รู้ทันว่า "กามฉันทะมีอยู่ภายในจิตสันดานของเรา " หรือเมื่อกามฉันทะไม่มีอยู่ ภายในจิตสันดาน ก็ให้รู้ทันว่า "กามฉันทะไม่มีอยู่ภายในจิตสันดานของเรา"
๒. เมื่อพยาบาท (โทสะความโกรธความคิดร้าย การปองร้าย)มีอยู่ภายในจิตสันดานก็ให้รู้ กำหนดรู้ ทันว่า "
พยาบาท มีอยู่ภายในจิตสันดานของเรา" หรือเมื่อพยาบาท ไม่มีอยู่ภายในจิตสันดานก็ให้รู้ทันว่า "พยาบาทไม่มีอยู่ภายในจิตสันดานของเรา"
๓. เมื่อถีนมิทธะ (ความหดหู่และเซื่องซึม) มีอยู่ ภายในจิตสันดานก็ให้กำหนดรู้ทันว่า "ถีนมิทธะมีอยู่ภายในจิตสันดานของเรา " หรือเมื่อถีนมิทธะไม่มีอยู่ภายในจิตสันดาน ก็ให้รู้ทันว่า "ถีนมิทธะไม่มีอยู่ภายในจิตสันดานของเรา"
๔. เมื่อ อุทธัจจะและกุกกุจจะ (ความฟุ้งซ่านและ รำคาญใจ )มีอยู่ภายในจิตสันดานก็ให้รู้ทันว่า " อุทธัจจะและกุกกุจจะมีอยู่ภายในจิตสันดานของเรา " หรือเมื่ออุทธัจจะและกุกกุจจะไม่มีอยู่ภายในจิตสันดาน ก็ให้รู้ทันว่า "อุทธัจจะและกุกกุจจะไม่มีอยู่ภายในจิตสันดานของเรา"
๕. เมื่อวิจิกิจฉา (ความลังเลสงสัย ) มีอยู่ ภายในจิตสันดานก็ให้กำหนด รู้ทันว่า"วิจิกิจฉามีอยู่ภายในจิตสันดานของเรา " หรือเมื่อวิจิกิจฉาไม่มีอยู่ภายในจิตสันดานก็ให้รู้ทันว่า "วิจิกิจฉาไม่มีอยู่ภายในจิตสันดานของเรา"

นอกจากนี้ ก็ให้รู้ทันเหตุเกิดแห่งพยาบาท , แห่งถีนมิทธะ ,อุทธัจจะและกุกกุจจะ , วิจิกิจฉา ที่ยังไม่เคยเกิดขึ้นนั้นด้วย และให้รู้ทันเหตุแห่งการละ (โดยตทังคปหานและวิกขัมภนปหาน) ชึ่งพยาบาท ถีนมิทธะ ,อุทธัจจะและกุกกุจจะ , วิจิกิจฉาที่เกิดขึ้นแล้วด้วย และให้รู้ทันเหตุดับกล่าวคืออริยมรรคที่ละได้แล้วนั้นด้วย
 
ผู้ปฏิบัติควรนำวิธีการข้างต้นนี้มาพิจารณาโดยมีวิธีการปฏิบัติโดยสรุป คือ 
๑. ควรนำวิธีข้างต้นนี้มาพิจารณาสภาวธรรมภายในคือนิวรณ์ภายในจิตของตน ให้เห็นเป็นเพียงสักแต่ว่าเป็นสภาวธรรม
๒. หรือจะนำนิวรณ์ภายใน จิตของตนมาพิจารณาเปรียบเทียบกับนิวรณ์ภายนอก คือนิวรณ์ของผู้อื่น ให้เห็นว่า แม้นิวรณ์ก็เป็นเพียงสักแต่ว่าเป็นสภาวธรรมเหมือนกับนิวรณ์ของเรานั่นเอง
๓. หรือจะใช้สติพิจารณาทั้งนิวรณ์ภายในและภายนอกให้เห็นเป็นเพียงสักแต่ว่าเป็นสภาวธรรม สลับกันไปก็ได้
๔. ใช้สติพิจารณาการเกิดและธรรมเป็นเหตุเกิดแห่งนิวรณ์ หรือใช้สติพิจารณาการดับและธรรมเป็นเหตุดับแห่งสภาวธรรม หรือใช้สติพิจารณาทั้งการเกิด -ดับและธรรมเป็นเหตุเกิด -ดับแห่งสภาวธรรมสลับกันไปก็ได้
๕. ต้องมีสติอยู่เสมอว่า สภาวะที่ปรากฏอยู่นี้เป็นแต่เพียงสภาวธรรมเท่านั้น (ไม่ใช่บุคคลอัตตาตัวตนเราเขา ) และควรตระหนักด้วยว่าการที่นำเอานิวรณ์มา พิจารณาตามนัยข้างต้นนั้น มีวัตถุประสงค์เพียงต้องการให้ญาณปัญญาแก่กล้ายิ่งๆ ขึ้น และเพียงเพื่อความสมบูรณ์แห่งการเจริญสติเท่านั้น จึงไม่ควรที่
จะหลงผิดยึดติดอยู่ในสังขาร (มีนิวรณ์ เป็นต้น) ใดๆ ที่กำลังเกิดดับอยู่

ว่าด้วยการใช้สติพิจารณาขันธ์
 พิจารณาธรรมคืออุปาทานขันธ์ ๕ ให้เห็นเป็นเพียงสภาวธรรมทั้งหลาย ดังนี้
๑. นี้คือรูป นี้คือเหตุที่ทำให้รูปเกิด หรือนี้คือความเกิดแห่งรูป นี้คือเหตุที่ทำให้รูปดับ หรือนี้คือความดับแห่งรูป
๒. นี้คือเวทนา นี้คือเหตุที่ทำให้เวทนาเกิด หรือนี้คือความเกิดแห่งเวทนา นี้คือเหตุที่ทำให้เวทนาดับ หรือนี้คือความดับแห่งเวทนา
๓. นี้คือสัญญา นี้คือเหตุที่ทำให้สัญญาเกิด หรือนี้คือความเกิดแห่งสัญญา นี้คือเหตุที่ทำให้สัญญาดับ หรือนี้คือความดับแห่งสัญญา
๔. นี้คือสังขาร นี้คือเหตุที่ทำให้สังขารเกิด หรือนี้คือความเกิดแห่งสังขาร นี้คือเหตุที่ทำให้สังขารดับ หรือนี้คือความดับแห่งสังขาร
๕. นี้คือวิญญาณ นี้คือเหตุที่ทำให้วิญญาณเกิด หรือนี้คือความเกิดแห่งวิญญาณ นี้คือเหตุที่ทำให้วิญญาณดับ หรือนี้คือความดับแห่งวิญญาณ

ผู้ปฏิบัติควรนำวิธีการข้างต้นนี้มาพิจารณา มีวิธีการปฏิบัติสรุปเหมือนกับการพิจารณานิวรณ์ เพียงเปลี่ยนจากนิวรณ์เป็นสภาวธรรมของขันธ์ ๕ 
 
ว่าด้วยการใช้สติพิจารณาอายตนะ 
พิจารณาธรรมคืออายตนะภายใน ๖ และอายตนะภายนอก ๖ ให้เห็นเป็นเพียงสภาวธรรมทั้งหลาย ดังนี้
๑. นี้คือตา(จักขุประสาท) นี้คือรูป นี้คือสังโยชน์ที่อาศัยตาและรูปทั้งสองนั้นเกิด นี้คือสาเหตุแห่งการเกิดขึ้นของสังโยชน์ที่ยังไม่เกิดขึ้น นี้คือสาเหตุแห่งการละสังโยชน์ที่เกิดขึ้นแล้ว และนี้คือสาเหตุที่ทำให้
สังโยชน์ที่ละได้แล้วไม่สามารถเกิดขึ้นต่อไปอีก
๒. นี้คือหู(โสตประสาท) นี้คือเสียง นี้คือสังโยชน์ที่อาศัยหูและเสียงทั้งสองนั้นเกิด นี้คือสาเหตุแห่งการเกิดขึ้นของสังโยชน์ที่ยังไม่เกิดขึ้น นี้คือสาเหตุแห่งการละสังโยชน์ที่เกิดขึ้นแล้ว และนี้คือสาเหตุที่ทำให้สังโยชน์ที่ละได้แล้วไม่สามารถเกิดขึ้นต่อไปอีก
๓. นี้คือจมูก(ฆานประสาท) นี้คือกลิ่น นี้คือสังโยชน์ที่อาศัยจมูกและกลิ่นทั้งสองนั้นเกิด นี้คือสาเหตุแห่งการเกิดขึ้นของสังโยชน์ที่ยังไม่เกิดขึ้น นี้คือสาเหตุแห่งการละสังโยชน์ที่เกิดขึ้นแล้ว และนี้คือสาเหตุที่
ทำให้สังโยชน์ที่ละได้แล้วไม่สามารถเกิดขึ้นต่อไปอีก
๔. นี้คือลิ้น(ชิวหาประสาท) นี้คือรส นี้คือสังโยชน์ที่อาศัยลิ้นและรสทั้งสองนั้นเกิด นี้คือสาเหตุแห่งการเกิดขึ้นของสังโยชน์ที่ยังไม่เกิดขึ้น นี้คือสาเหตุแห่งการละสังโยชน์ที่เกิดขึ้นแล้ว และนี้คือสาเหตุที่ทำให้สังโยชน์ที่ละได้แล้วไม่สามารถเกิดขึ้นต่อไปอีก
๕. นี้คือกาย(กายประสาท) นี้คือโผฏฐัพพารมณ์ นี้คือสังโยชน์ที่อาศัยกายและโผฏฐัพพารมณ์ทั้งสองนั้นเกิด นี้คือสาเหตุแห่งการเกิดขึ้นของสังโยชน์ที่ยังไม่เกิดขึ้น นี้คือสาเหตุแห่งการละสังโยชน์ที่เกิดขึ้นแล้ว 
และนี้คือสาเหตุที่ทำให้สังโยชน์ที่ละได้แล้วไม่สามารถเกิดขึ้นต่อไปอีก
๖. นี้คือใจ นี้คือธรรมารมณ์ นี้คือสังโยชน์ที่อาศัยใจและธรรมารมณ์ทั้งสองนั้นเกิด นี้คือสาเหตุแห่งการเกิดขึ้นของสังโยชน์ที่ยังไม่เกิดขึ้น นี้คือสาเหตุแห่งการละสังโยชน์ที่เกิดขึ้นแล้ว และนี้คือสาเหตุที่ทำให้สังโยชน์ที่ละได้แล้วไม่สามารถเกิดขึ้นต่อไปอีก

ผู้ปฏิบัติควรนำวิธีการข้างต้นมาพิจารณา โดยมีวิธีการปฏิบัติเหมือนกันกับการพิจารณาขันธ์ ๕ เพียงเปลี่ยนเป็นสภาวธรรมของอายตนะ 
 
ว่าด้วยการใช้สติพิจารณาโพชฌงค์ 
พิจารณาธรรมคือโพชฌงค์ ๗ ให้เห็นเป็นเพียงสภาวธรรมทั้งหลาย ดังนี้
๑. เมื่อสติสัมโพชฌงค์ มีอยู่ภายในจิตสันดานก็ให้รู้ กำหนดรู้ทันว่า "สติสัมโพชฌงค์มีอยู่ภายในจิตสันดานของเรา" หรือเมื่อสติสัมโพชฌงค์ไม่มีอยู่ภายในจิตสันดาน ก็ให้รู้ทันว่า "สติสัมโพชฌงค์ไม่มีอยู่ภายในจิตสันดานของเรา"
๒. เมื่อธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ มีอยู่ภายในจิตสันดานก็ให้ กำหนดรู้ทันว่า "ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ มีอยู่ภายในจิตสันดานของเรา " หรือเมื่อธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ไม่มีอยู่ ภายในจิตสันดาน ก็ให้รู้ทันว่า "ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ไม่มีอยู่ภายในจิตสันดานของเรา"
๓. เมื่อวิริยสัมโพชฌงค์มีอยู่ภายในจิตสันดานก็ให้กำหนดรู้ทันว่า "วิริยสัมโพชฌงค์มีอยู่ภายในจิตสันดาน
ของเรา" หรือเมื่อวิริยสัมโพชฌงค์ไม่มีอยู่ภายในจิตสันดาน ก็ให้รู้ทันว่า "วิริยสัมโพชฌงค์ไม่มีอยู่ภายในจิตสันดานของเรา"
๔. เมื่อปีติสัมโพชฌงค์มีอยู่ภายในจิตสันดานก็ให้กำหนด รู้ทันว่า "ปีติสัมโพชฌงค์มีอยู่ภายในจิตสันดานของเรา" หรือเมื่อปีติสัมโพชฌงค์ไม่มีอยู่ภายในจิตสันดาน ก็ให้รู้ทันว่า "ปีติสัมโพชฌงค์ไม่มีอยู่ภายในจิตสันดานของเรา"
๕. เมื่อปัสสัทธิสัมโพชฌงค์มีอยู่ภายในจิตสันดานก็ให้กำหนดรู้ทันว่า "ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์มีอยู่ภายในจิตสันดานของเรา" หรือเมื่อปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ไม่มีอยู่ภายในจิตสันดาน ก็ให้รู้ทันว่า "ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ไม่มีอยู่ภายในจิตสันดานของเรา"
๖. เมื่อสมาธิสัมโพชฌงค์มีอยู่ภายในจิตสันดานก็ให้รู้กำหนดรู้ว่า "สมาธิสัมโพชฌงค์มีอยู่ภายในจิตสันดานของเรา" หรือเมื่อสมาธิสัมโพชฌงค์ไม่มีอยู่ภายในจิตสันดาน ก็ให้รู้ทันว่า "สมาธิสัมโพชฌงค์ไม่มีอยู่ภายในจิตสันดานของเรา"
๗. เมื่ออุเบกขาสัมโพชฌงค์มีอยู่ภายในจิตสันดานก็ให้รู้กำหนดรู้ว่า "อุเบกขาสัมโพชฌงค์มีอยู่ภายในจิตสันดานของเรา " หรือเมื่ออุเบกขาสัมโพชฌงค์ไม่มีอยู่ภายในจิตสันดาน ก็ให้รู้ทันว่า "อุเบกขาสัมโพชฌงค์ไม่มีอยู่ภายในจิตสันดานของเรา"

นอกจากนี้ ก็ให้รู้ทันเหตุเกิดคือโยนิโสมนสิการ แห่งสติสัมโพชฌงค์ ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ วิริยสัมโพชฌงค์ ปีติสัม-โพชฌงค์ ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ สมาธิสัมโพชฌงค์ อุเบกขาสัมโพชฌงค์ ที่ยังไม่เคยเกิดขึ้นด้วย และให้รู้ทันเหตุ (อรหัตมรรค) ที่ทำให้สติสัมโพชฌงค์ที่เกิดขึ้นแล้วมีความสมบูรณ์ด้วย ผู้ปฏิบัติควรนำวิธีการข้างต้นนี้มาพิจารณา โดยมีวิธีการปฏิบัติเหมือนกันกับการอายตนะ เพียงเปลี่ยนเป็นสภาวธรรมของโพชฌงค์ 

ว่าด้วยการใช้สติพิจารณาอริยสัจ ๔ 
พิจารณาธรรมกล่าวคืออริยสัจ ๔ ให้เห็นเป็นเพียงสภาวธรรมทั้งหลาย ดังนี้
รู้ตามความเป็นจริงว่า รูปนามที่กำลังเกิดดับอยู่นี้ เรียกว่าทุกข์
รู้ตามความเป็นจริงว่า ตัณหาความอยากอันเป็นเหตุให้เกิดทุกข์นี้ เรียกว่าทุกขสมุทัย
รู้ตามความเป็นจริงว่า ธรรม (นิพพาน) อันไม่มีความเกิดดับนี้ เรียกว่าทุกขนิโรธ
รู้ตามความเป็นจริงว่า กลุ่มธรรมอันเป็นข้อปฏิบัติเพื่อการเข้าถึงนิพพานนี้เรียกว่าทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา

๑. ทุกขอริยสัจ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ทุกขอริยสัจได้แก่อะไรบ้าง
ชาติทุกข์ (เกิด)
ชราทุกข์ (แก่)
มรณทุกข์ (ตาย)
โสกทุกข์ (ทุกข์โศก)
ปริเทวทุกข์(คร่ำครวญ)
ทุกขทุกข์ (เจ็บปวดทางกาย)
โทมนัสทุกข์ (เสียใจ)
อุปายาสทุกข์ (คับแค้นใจ)
อัปปิยสัมปโยคทุกข์ (การประสบกับอารมณ์อันไม่เป็นที่รัก )
ปิยวิปโยคทุกข์ (ความพลัดพรากจากอารมณ์อันเป็นที่รัก)
อลาภทุกข์ (ความสิ้นหวัง,การไม่ประสบผลสำเร็จ,การไม่ได้ในสิ่งที่ต้องการ )

ซึ่งเมื่อว่าโดยสรุปแล้ว ทุกขอริยสัจก็คืออุปาทานขันธ์ ๕ นี้เอง 
ภิกษุทั้งหลาย ชาติทุกข์ คืออะไร
ภิกษุทั้งหลาย ชาติทุกข์ คือ การถือกำเนิดเกิดครั้งแรก การอุบัติการถือปฏิสนธิในครรภ์เป็นต้น การได้อัตภาพเป็นตัวเป็นตน การบังเกิดขึ้นแห่งขันธ์ การบังเกิดขึ้นแห่งอายตนะของเหล่าสัตว์นั้นๆ ในหมู่สัตว์
นั้นๆ ภิกษุทั้งหลาย สภาวะเช่นนี้แล เรียกว่า ชาติทุกข์

ภิกษุทั้งหลาย ชราทุกข์ คืออะไร
ภิกษุทั้งหลาย ชราทุกข์คือ ความแก่เฒ่า ความคร่ำคร่า อาการที่มีฟันหลุด มีผมหงอก มีหนังเหี่ยวย่น ความเสื่อมโทรมแห่งรูป ความหย่อนสมรรถภาพแห่งประสาทอินทรีย์ของเหล่าสัตว์นั้นๆ ในหมู่สัตว์นั้นๆ ภิกษุทั้งหลาย สภาวะเช่นนี้แล เรียกว่า ชราทุกข์

ภิกษุทั้งหลาย มรณทุกข์ คืออะไร
ภิกษุทั้งหลาย มรณทุกข์คือ การจุติจากภพหนึ่งไปสู่ภพหนึ่ง การเคลื่อนย้ายจากภพหนึ่งไปสู่ภพหนึ่ง การแตกสลายหายไป ความตาย มฤตยูการถึงแก่กรรม การแตกดับแห่งขันธ์ ๕ การทอดทิ้งร่างกาย การ
ขาดสูญแห่งชีวิตินทรีย์ ของเหล่าสัตว์นั้นๆ ในหมู่สัตว์นั้นๆ ภิกษุทั้งหลาย สภาวะเช่นนี้แลเรียกว่ามรณทุกข์ 

ภิกษุทั้งหลาย โสกทุกข์ คืออะไร
ภิกษุทั้งหลาย โสกทุกข์ คือ ความเศร้าโศกเสียใจ อาการเศร้าโศกเสียใจ ความรันทดใจ ความทุกข์ระทมใจ ของผู้ประสบความเสื่อมความหายนะอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือผู้ที่ได้รับการกระทบกระเทือนจากเหตุการณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง ภิกษุทั้งหลาย สภาวะเช่นนี้แล เรียกว่า โสกทุกข์

ภิกษุทั้งหลาย ปริเทวทุกข์ คืออะไร
ภิกษุทั้งหลาย ปริเทวทุกข์ คือ การร้องไห้รำพึงรำพัน การคร่ำครวญ การเพ้อพร่ำของผู้ประสบความเสื่อมความหายนะอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือผู้ที่ได้รับการกระทบกระเทือนจากเหตุการณ์ย่างใดอย่างหนึ่ง ภิกษุทั้งหลาย สภาวะเช่นนี้แล เรียกว่า ปริเทวทุกข์

ภิกษุทั้งหลาย ทุกขทุกข์ คืออะไร
ภิกษุทั้งหลาย ทุกขทุกข์คือ ความทุกข์ทางกาย ความเจ็บปวดทางกาย ความลำบากกาย ความไม่สบายกาย ภิกษุทั้งหลาย สภาวะเช่นนี้แล เรียกว่า ทุกขทุกข์

ภิกษุทั้งหลาย โทมนัสทุกข์ คืออะไร
ภิกษุทั้งหลาย โทมนัสทุกข์ คือความทุกข์ทางใจ ความเจ็บปวดทางใจ ความลำบากใจ ความไม่สบายใจ ภิกษุทั้งหลาย สภาวะเช่นนี้แล เรียกว่า โทมนัสทุกข์ 

ภิกษุทั้งหลาย อุปายาสทุกข์ คืออะไร
ภิกษุทั้งหลาย อุปายาสทุกข์ คือ ความคับแค้นใจ ความเครียดทางใจ ของผู้ประสบความเสื่อมความหายนะอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือผู้ที่ได้รับการกระทบกระเทือนจากเหตุการณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง ภิกษุ
ทั้งหลาย สภาวะเช่นนี้แล เรียกว่า โทมนัสทุกข์

ภิกษุทั้งหลาย อัปปิยสัมปโยคทุกข์ คืออะไร
ภิกษุทั้งหลาย อัปปิยสัมปโยคทุกข์ คือ การที่ได้พบประสบเจอกับอารมณ์เช่น รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมารมณ์ที่เราไม่พึงปรารถนาไม่เป็นที่รักใคร่ ไม่เป็นที่ชอบใจ หรือการที่ได้คบค้าสมาคม การที่ได้อยู่ร่วมคลุกคลีบุคคลผู้ที่ไม่ใช่มิตร ผู้ที่ไม่หวังประโยชน์ไม่หวังความสงบสุขและความเจริญแก่เรา ภิกษุทั้งหลาย สภาวะเช่นนี้แล เรียกว่า อัปปิยสัมปโยคทุกข์ 

ภิกษุทั้งหลาย ปิยวิปโยคทุกข์ คืออะไร
ภิกษุทั้งหลาย ปิยวิปโยคทุกข์ คือ การพลัดพรากจากอารมณ์เช่นรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมารมณ์ที่พึงปรารถนาที่น่ารักใคร่ น่าชอบใจ หรือการพลัดพรากจากบุคคลผู้เป็นที่รัก ผู้เป็นมิตรผู้หวัง
ความเจริญหวังประโยชน์หวังความสงบสุขแก่เรา ภิกษุทั้งหลาย สภาวะเช่นนี้แล เรียกว่า ปิยวิปโยคทุกข์ 

ภิกษุทั้งหลาย อลาภทุกข์ คืออะไร
ภิกษุทั้งหลาย อลาภทุกข์ คือ การที่เหล่าสัตว์ปรารถนาสิ่งใดแล้วไม่ได้สิ่งนั้น เช่น
๑. การที่เหล่าสัตว์ผู้มีความเกิดเป็นธรรมดา เกิดความปรารถนาขึ้นอย่างนี้ว่า "ไฉนหนอ ขอเราอย่าได้เกิดในภพใหม่เลย หรือขอความเกิดในภพใหม่อย่าได้มาถึงเราเลย" ซึ่งข้อนี้หากเป็นแต่เพียงความปรารถนาเท่านั้น ก็จะไม่พึงสำเร็จได้ ภิกษุทั้งหลาย สภาวะเช่นนี้แล เรียกว่า อลาภทุกข์ 
๒. การที่เหล่าสัตว์ผู้มีความแก่เป็นธรรมดา เกิดความปรารถนาขึ้นอย่างนี้ว่า "ไฉนหนอ ขอเราอย่าได้แก่ หรือขอความแก่อย่าได้มาถึงเราเลย" ซึ่งข้อนี้เป็นแต่เพียงความปรารถนาเท่านั้น ก็ จะไม่พึงสำเร็จได้ ภิกษุทั้งหลาย สภาวะเช่นนี้แล เรียกว่า อลาภทุกข์
๓. การที่เหล่าสัตว์ผู้มีความเจ็บปุวยเป็นธรรมดา เกิดความปรารถนาขึ้นอย่างนี้ว่า "ไฉนหนอ ขอเราอย่าได้เจ็บปุวยเลย หรือขอความเจ็บปุวยอย่าได้มาถึงเราเลย" ซึ่งข้อนี้หากเป็นแต่เพียงความปรารถนาเท่านั้น ก็จะไม่พึงสำเร็จได้ ภิกษุทั้งหลาย สภาวะเช่นนี้แลเรียกว่า อลาภทุกข์
๔. การที่เหล่าสัตว์ผู้มีความตายเป็นธรรมดา เกิดความปรารถนาขึ้นอย่างนี้ว่า "ไฉนหนอ ขอเราอย่าได้ตายเลย หรือขอความตายอย่าได้มาถึงเราเลย" ซึ่งข้อนี้เป็นแต่เพียงความปรารถนาเท่านั้น ความ
ปรารถนานี้จะไม่พึงสำเร็จได้ ภิกษุทั้งหลาย สภาวะเช่นนี้แล เรียกว่าอลาภทุกข์
๕. การที่เหล่าสัตว์ผู้มีความโศก ความคร่ำครวญ ความทุกข์กายความทุกข์ใจและความคับแค้นใจเป็นธรรมดา เกิดความปรารถนาขึ้นอย่างนี้ว่า "ไฉนหนอ ขอเราอย่าได้มีความโศก ความคร่ำครวญ ความทุกข์กาย ความทุกข์ใจและความคับแค้นใจเลย " ซึ่งข้อนี้เป็นแต่เพียงความปรารถนาเท่านั้น ความปรารถนานี้จะไม่สำเร็จได้อย่างแน่นอน ภิกษุทั้งหลาย สภาวะเช่นนี้แล เรียกว่า อลาภทุกข์

ภิกษุทั้งหลาย อุปาทานขันธทุกข์ คืออะไร
ภิกษุทั้งหลาย อุปาทานขันธทุกข์ คือ รูปูปาทานขันธ์ (รูปขันธ์ที่กิเลสตัณหาเข้าไปยึดมั่น) เวทนูปาทานขันธ์ (เวทนาขันธ์ที่กิเลสตัณหาเข้าไปยึดมั่น) สัญญูปาทานขันธ์ (สัญญาขันธ์ที่กิเลสตัณหาเข้าไปยึด
มั่น) สังขารูปาทานขันธ์ (สังขารขันธ์ที่กิเลสตัณหาเข้าไปยึดมั่น) วิญญาณูปาทานขันธ์ (วิญญาณที่กิเลสตัณหาเข้าไปยึดมั่น) ภิกษุทั้งหลาย สภาวะเช่นนี้แล เรียกว่า อุปาทานขันธทุกข์

ภิกษุทั้งหลาย ทั้งหมดที่กล่าวมานี้แล เรียกว่า ทุกขอริยสัจ 

๒. สมุทยสัจ 
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ทุกขสมุทยอริยสัจ ได้แก่อะไรบ้าง
ได้แก่ กามตัณหา ภวตัณหา และวิภวตัณหา ซึ่งเป็นความกำหนัดยินดี ความเพลิดเพลินในอัตภาพและอารมณ์นั้นๆ อันเป็นเหตุให้เกิดการเวียนว่ายตายเกิด

กามตัณหา คือ ความอยาก ความกระหายในกามคุณ คือรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส 
ภวตัณหา คือ ความอยาก ความกระหายในกามภพ รูปภพ อรูปภพของบุคคลผู้มีความเห็นผิด คิดว่าโลกเที่ยง ซึ่งเป็นเหตุทำให้บุคคลนั้นปรารถนาที่จะวนเวียนมาเกิดในภพเหล่านั้นอีก จัดเป็นความอยากที่เจือด้วยสัสสตทิฏฐิ (ความเห็นผิดคิดว่าโลกเที่ยง ) ทำให้ไม่อยากที่จะหลุดพ้นจากวัฏฏะ แม้ความยินดีในฌาน ก็จัดเป็นภวตัณหาเช่นกัน 
วิภวตัณหา คือ ความอยาก ความกระหายในการตาย เพราะเชื่อว่าหลังจากที่ตายไปแล้วการเวียนว่ายตายเกิดก็เป็นอันจบกัน นั่นก็หมายความว่าความทุกข์ทั้งปวงได้ดับลงแล้วอย่างสิ้นเชิง (อุจเฉททิฏฐิ)

เมื่อตัณหาทั้งสามนี้ย่อมเกิด ที่สังขารอันมีสภาพที่น่ารัก น่ายินดี และนอนเนื่องอยู่ในสังขารอันมีสภาพที่น่ารักน่ายินดีนั้นนั่นเอง สังขารอันมีสภาพที่น่ารักน่ายินดี ได้แก่ 
จักษุอันมีสภาพที่น่ารักน่ายินดี ก็ตัณหาทั้งสามนี้ ย่อมเกิดและนอนเนื่องที่จักษุนี้
โสตะอันมีสภาพที่น่ารักน่ายินดี ก็ตัณหาทั้งสามนี้ ย่อมเกิดและนอนเนื่องที่โสตะนี้
ฆานะอันมีสภาพที่น่ารักน่ายินดี ก็ตัณหาทั้งสามนี้ ย่อมเกิดและนอนเนื่องที่ฆานะนี้
ชิวหาอันมีสภาพที่น่ารักน่ายินดี ก็ตัณหาทั้งสามนี้ ย่อมเกิดและนอนเนื่องที่ชิวหานี้
กายอันมีสภาพที่น่ารักน่ายินดี ก็ตัณหาทั้งสามนี้ ย่อมเกิดและนอนเนื่องที่กายนี้
มโนอันมีสภาพที่น่ารักน่ายินดี ก็ตัณหาทั้งสามนี้ ย่อมเกิดและนอนเนื่องที่มโนนี้
รูปอันมีสภาพที่น่ารักน่ายินดี ก็ตัณหาทั้งสามนี้ ย่อมเกิดและนอนเนื่องที่รูปนี้
เสียงอันมีสภาพที่น่ารักน่ายินดี ก็ตัณหาทั้งสามนี้ ย่อมเกิดและนอนเนื่องที่เสียงนี้
กลิ่นอันมีสภาพที่น่ารักน่ายินดี ก็ตัณหาทั้งสามนี้ ย่อมเกิดและนอนเนื่องที่กลิ่นนี้
รส อันมีสภาพที่น่ารักน่ายินดี ก็ตัณหาทั้งสามนี้ ย่อมเกิดและนอนเนื่องที่รสนี้
โผฏฐัพพะ (สัมผัส) อันมีสภาพที่น่ารักน่ายินดี ก็ตัณหาทั้งสามนี้ ย่อมเกิดและนอนเนื่องที่โผฏฐัพพะนี้ 
ตลอดจนธรรมารมณ์อันมีสภาพที่น่ารักน่ายินดีจักขุวิญญาณอันมีสภาพที่น่ารักน่ายินดี โสต
วิญญาณอันมีสภาพที่น่ารักน่ายินดีฆานวิญญาณ...ชิวหาวิญญาณ...กายวิญญาณ....มโนวิญญาณ...จักขุ
สัมผัส...โสตสัมผัส..ฆานสัมผัส..ชิวหาสัมผัส...กายสัมผัส..มโนสัมผัส อันมีสภาพที่น่ารักน่ายินดีก็ตัณหา
ทั้งสามนี้ ย่อมเกิดและนอนเนื่องที่นี้

ตลอดจนเวทนาที่เกิดจากจักขุสัมผัส...เวทนาที่เกิดจากโสตสัมผัส...เวทนาที่เกิดจากฆานสัมผัส...เวทนาที่เกิดจากชิวหาสัมผัส...เวทนาที่เกิดจากกายสัมผัส...เวทนาที่เกิดจากมโนสัมผัส อันมีสภาพที่น่ารัก น่ายินดีก็แลตัณหาทั้งสามนี้ย่อมเกิดและนอนเนื่องที่นี้

๓. นิโรธสัจ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ทุกขนิโรธอริยสัจ ได้แก่อะไรบ้าง
ได้แก่ ความดับกิเลสไม่เหลือด้วยวิราคะ ความปล่อยวาง ความสละคืน ความพ้น ความไม่ติดตัณหานี้ เมื่อละ ละที่ไหน เมื่อดับ ดับที่ไหน ? รูปที่น่ารักน่ายินดีมีอยู่ในโลก ตัณหานี้เมื่อละ ก็ละที่รูปนี้เมื่อดับ ก็ดับที่รูปนี้ รูปที่น่ารักน่ายินดี ได้แก่ จักขุเป็นรูปที่น่ารักน่ายินดีตัณหานี้เมื่อละ ก็ละที่จักขุนี้เมื่อดับก็ดับที่จักขุนี้เป็นต้น

๔. มัคคสัจจ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ ได้แก่อะไรบ้าง
ได้แก่ อริยมรรคมีองค์๘ คือ
๑. สัมมาทิฏฐิ(เห็นชอบ)
๒.สัมมาสังกัปปะ (ดำริชอบ)
๓. สัมมาวาจา (วาจาชอบ)
๔. สัมมากัมมันตะ (การงานชอบ)
๕. สัมมาอาชีวะ (เลี้ยงชีพชอบ)
๖. สัมมาวายามะ (ความเพียรชอบ)
๗.สัมมาสติ(ระลึกชอบ)
๘. สัมมาสมาธิ(ตั้งจิตมั่นชอบ)

๑. สัมมาทิฏฐิ คือ ความรู้ในทุกข์(ความทุกข์) ความรู้ในทุกขสมุทัย (เหตุเกิดแห่งทุกข์) ความรู้ในทุกขนิโรธ (ความดับแห่งทุกข์) ความรู้ในทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา (ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งทุกข์)
ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า สัมมาทิฏฐิ
๒. สัมมาสังกัปปะ คือ ความดำริในการออกจากกาม ความดำริในการไม่พยาบาท ความดำริในการไม่เบียดเบียน
ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า สัมมาสังกัปปะ
๓. สัมมาวาจา คือ เจตนาเป็นเหตุงดเว้นจากการพูดเท็จ เจตนาเป็นเหตุงดเว้นจากการพูดส่อเสียด เจตนาเป็นเหตุงดเว้นจากการพูดคำหยาบ เจตนาเป็นเหตุงดเว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ
ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า สัมมาวาจา
๔. สัมมากัมมันตะ คือ เจตนาเป็นเหตุงดเว้นจากการฆ่าสัตว์ เจตนาเป็นเหตุงดเว้นจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้ เจตนาเป็นเหตุงดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม
ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า สัมมากัมมันตะ
๕. สัมมาอาชีวะ คือ อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ละมิจฉาอาชีวะแล้ว สำเร็จการเลี้ยงชีพด้วยสัมมาอาชีวะ
ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า สัมมาอาชีวะ
๖. สัมมาวายามะ คือ 
สร้างฉันทะ พยายาม ปรารภความเพียร ประคองจิต มุ่งมั่น เพื่อป้องกันบาปอกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดมิให้เกิดขึ้น
- สร้างฉันทะ พยายาม ปรารภความเพียร ประคองจิต มุ่งมั่น เพื่อละบาปอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว
- สร้างฉันทะ พยายาม ปรารภความเพียร ประคองจิต มุ่งมั่น เพื่อทำกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดขึ้นให้เกิดขึ้น
- สร้างฉันทะ พยายาม ปรารภความเพียร ประคองจิต มุ่งมั่น เพื่อความดำรงอยู่ ไม่เลือนหายภิญโญภาพไพบูลย์เจริญเต็มที่แห่งกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว
๗. สัมมาสติ คือ
- การพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้
- การพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลายอยู่ เป็นต้น
- การพิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ เป็นต้น
- การพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้ 
 ๘. สัมมาสมาธิ คือ
- สงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลาย บรรลุปฐมฌานที่มีวิตก มีวิจาร มีปีติ และสุขอันเกิดจากวิเวกอยู่
- เพราะวิตกวิจารสงบระงับไป บรรลุทุติยฌานที่มีความผ่องใสภายใน มีภาวะที่จิตเป็นหนึ่งผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีแต่ปีติและสุขอันเกิดจากสมาธิอยู่
- เพราะปีติจางคลายไป มีจิตเป็นอุเบกขา มีสติมีสัมปชัญญะอยู่ และเสวยสุขด้วยกาย (นามกาย) บรรลุตติยฌานที่พระอริยะทั้งหลาย กล่าวสรรเสริญว่า ผู้มีอุเบกขา มีสติ อยู่เป็นสุข
- เพราะละสุขและทุกข์ได้ เพราะโสมนัสและโทมนัสดับไปก่อนแล้ว บรรลุจตุตถฌานที่ไม่มีทุกข์ไม่มีสุข มีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขาอยู่

ด้วยวิธีนี้ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายภายในอยู่ พิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายภายนอกอยู่ หรือพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายทั้งภายในทั้งภายนอกอยู่ พิจารณาเห็นธรรมเป็นเหตุเกิดในธรรมทั้งหลายอยู่ พิจารณาเห็นธรรมเป็นเหตุดับในธรรมทั้งหลายอยู่ หรือพิจารณาเห็นทั้งธรรมเป็นเหตุเกิดทั้งธรรมเป็นเหตุดับในธรรมทั้งหลายอยู่หรือว่า ภิกษุนั้นมีสติปรากฏอยู่เฉพาะหน้าว่าธรรมมีอยู่ ก็เพียงเพื่ออาศัยเจริญญาณ เจริญสติเท่านั้น ไม่อาศัย(ตัณหาและทิฏฐิ)อยู่ และไม่ยึดมั่นถือมั่นอะไร ๆ ในโลก  ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลาย คือ อริยสัจ ๔ อยู่อย่างนี้แล

อานิสงส์แห่งการเจริญสติปัฏฐาน ๔ ประการ
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้เจริญสติปัฏฐาน ๔ ตลอด ๗ ปีพึงหวังได้ผลอย่าง ๑ ใน ๒ อย่าง คือ อรหัตตผลในปัจจุบัน หรือเมื่อยังมีอุปาทานเหลืออยู่ ก็จักเป็นอนาคามี

หรือบุคคลเจริญสติปัฏฐาน ๔ ตลอด ๖ ปี ... ๕ ปี ....๔ ปี....๓ ปี .....๒ ปี....๑ ปี... พึงหวังได้ผลอย่าง ๑ ใน ๒ อย่าง คือ อรหัตตผลในปัจจุบัน หรือเมื่อยังมีอุปาทานเหลืออยู่ ก็จักเป็นอนาคามี

หรือบุคคลเจริญสติปัฏฐาน ๔ ตลอด ๗ เดือน.... ๖ เดือน... ๕ เดือน... ๔ เดือน... ๓ เดือน... ๒ เดือน... ๑ เดือน... ครึ่งเดือน.... พึงหวังได้ผลอย่าง ๑ ใน ๒ อย่าง คือ อรหัตตผลในปัจจุบัน หรือเมื่อยังมีอุปาทานเหลืออยู่ ก็จักเป็นอนาคามี

หรือบุคคลผู้เจริญสติปัฏฐาน ๔ ตลอด ๗ วัน พึงหวังได้ผลอย่าง ๑ ใน ๒ อย่าง คือ อรหัตตผลในปัจจุบัน หรือเมื่อยังมีอุปาทานเหลืออยู่ ก็จักเป็นอนาคามี

ภิกษุทั้งหลาย ทางนี้เป็นทางเอก เพื่อความบริสุทธิ์ของเหล่าสัตว์ เพื่อล่วงโสกะและปริเทวะ 
เพื่อดับทุกข์และโทมนัส เพื่อบรรลุญายธรรม เพื่อทำให้แจ้งนิพพาน ทางนี้คือ สติปัฏฐาน ๔ ประการ 
เราอาศัยทางเดียวนี้แล้ว จึงกล่าวคำดังพรรณนามาฉะนี้

เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้ ภิกษุเหล่านั้นมีใจยินดีต่างชื่นชมพระภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล้วแล

จบมหาสติปัฏฐาน



สรุปการเจริญสติปัฏฐาน ๔ คือ หลักการปฏิบัติที่มี๔ ระดับ แต่
ละระดับก็มีความ สัมพันธ์กันโดยตรงกับฐานของสติ ถ้าฝึกปฏิบัติไป
ตลอดสายแล้วผลที่จะปรากฏเกิดขึ้นได้ คือ
- ระดับที่ ๑ รู้ว่ากายไม่ใช่ตัวตน
- ระดับที่ ๒ รู้ว่าความรู้สึกสุข ทุกข์เฉยๆ ไม่ใช่ตัวตน
- ระดับที่ ๓ รู้ว่าจิตไม่ใช่ตัวตน
- ระดับที่ ๔ รู้ว่าธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา ไม่มีบุคคล เราเขาหญิงชาย

ขั้นตอนการปฏิบัติถ้าผู้ปฏิบัติศึกษาเข้าใจดีแล้ว ทดลองฝึกหัดปฏิบัติในแต่ละหมวดแล้ว ก็อาจสลับรู้ระหว่างธรรมหยาบกับละเอียดเพื่อความประจักษ์แจ้งยิ่งๆ ขึ้นไป ได้ แต่ที่สำคัญคือทุกระดับในการปฏิบัติ แม้ในกายานุปัสสนาอันเป็นการพิจารณาสภาพธรรมที่หยาบที่สุด ก็อาจมีผลส่งให้จิตทำลายอุปาทานในตัวตน เข้าถึงมรรคผลได้ทั้งสิ้น จึงไม่มีสิ่งใดที่จะบอกได้ว่าการรู้สภาพธรรมที่หยาบกับละเอียดนั้นอย่างไหนที่มีคุณภาพยิ่งหย่อนกว่ากัน หากพิจารณาแนวปฏิบัติที่พระพุทธองค์ทรงวางไว้แล้วก็จะพบว่าเป็น ขั้นตอนที่เหมาะสม คือทรงสอนให้รู้ในสิ่งที่รู้ได้ง่ายก่อน ในตอนแรกมีการแบ่งรูป แบ่งนามเพื่อง่ายต่อการเอาสติไป
กำหนดรู้ว่าสิ่งนี้คือรูป สิ่งนี้คือนาม แต่สุดท้ายก็ ลงเอยด้วยการเห็นรูปนามควบคู่กันเป็น “ ธรรม” นั่นเอง 




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น