วันพุธ

คุณแห่งการฉันทอาหารหนเดียว

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๓ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๕ มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ ภัททาลิสูตร คุณแห่งการฉันอาหารหนเดียว

ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี. ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นรับพระดำรัสพระผู้มีพระภาคว่า พระเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราฉันอาหารในเวลาก่อนภัตครั้งเดียว เมื่อเราฉันอาหารในเวลาก่อนภัตครั้งเดียว ย่อมรู้สึกคุณ คือความเป็นผู้มีอาพาธน้อย มีโรคเบาบาง กายเบา มีกำลัง และอยู่สำราญ ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้เธอทั้งหลายจงมา จงฉันอาหารในเวลาก่อนภัตครั้งเดียวเถิด ด้วยว่า เมื่อเธอทั้งหลายฉันอาหารในเวลาก่อนภัตครั้งเดียว จักรู้สึกคุณคือความเป็นผู้มีอาพาธน้อย มีโรคเบาบาง กายเบา มีกำลัง และอยู่สำราญ

พระภัททาลิฉันอาหารหนเดียวไม่ได้ เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ท่านพระภัททาลิได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ไม่สามารถจะฉันอาหารในเวลาก่อนภัตครั้งเดียวได้ เพราะเมื่อข้าพระองค์ฉันอาหารในเวลาก่อนภัตครั้งเดียว จะพึงมีความรำคาญ ความเดือดร้อน

ดูกรภัททาลิ ถ้าอย่างนั้น เธอรับนิมนต์ ณ ที่ใดแล้ว พึงฉัน ณ ที่นั้นเสียส่วนหนึ่งแล้ว นำส่วนหนึ่งมาฉันอีกก็ได้ เมื่อเธอฉันได้ แม้อย่างนี้ ก็จักยังชีวิตให้เป็นไปได้

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ไม่สามารถจะฉันแม้ด้วยอาการอย่างนั้นได้ เพราะเมื่อข้าพระองค์ฉันแม้ด้วยอาการอย่างนั้น จะพึงมีความรำคาญ ความเดือดร้อน

ครั้งนั้นแล ท่านพระภัททาลิประกาศความไม่อุตสาหะขึ้นแล้ว ในเมื่อพระผู้มีพระภาคกำลังจะทรงบัญญัติสิกขาบทในเมื่อภิกษุสงฆ์สมาทานอยู่ซึ่งสิกขา ครั้งนั้นแล ท่านพระภัททาลิไม่ได้ให้ตนประสบพระพักตร์ พระผู้มีพระภาคตลอดไตรมาสนั้นทั้งหมดเหมือนภิกษุอื่น ผู้ไม่ทำความบริบูรณ์ในสิกขาในพระศาสนาของพระศาสดาฉะนั้นฯลฯ

อาการฉันทอาหารของพระพุทธเจ้า
๑) ไม่ติดในรส พระพุทธเจ้าแม้พระองค์จะอุบัติขึ้นในโลก แต่พระองค์ก็ไม่ทรงติดโลก ในเรื่องอาหารก็เช่นเดียวกันพระองค์เสวยอาหารแต่พระองค์ก็ไม่ทรงยึดติดในรสอาหารทุกชนิด โดยที่พระองค์ไม่ยินดียินร้ายกับรสอาหารว่าอร่อยหรือไม่อร่อย แต่ทรงมุ่งประโยชน์หรือคุณค่าแท้เป็นหลักใหญ่ของการบริโภค พระองค์ทรงวางท่าทีต่อการเสวยพระกระยาหารโดยไม่ทำความยินดียินร้ายในอาหารทำให้ทรงเห็นเป็นเพียงธาตุ

ในพรหมายุสูตร ได้กล่าวถึงการไม่ติดในรสของพระองค์ไว้ว่า เมื่อทรงรับข้าวสุกก็ไม่ทรงชูบาตรขึ้นรับ ไม่ทรงลดบาตรลงรับ ไม่ทรงยื่นบาตรคอยรับ ไม่ทรงแกว่งบาตรคอยรับ ทรงรับข้าวสุกไม่น้อยนักไม่มากนัก ทรงรับกับข้าว เสวยพระกระยาหารพอประมาณกับข้าว ไม่ทรงทำกับข้าวให้เกินกว่าคำข้าวทรงเคี้ยวคำข้าวข้างในพระโอษฐ์สองสามครั้งแล้วทรงกลืน ข้าวยังไม่ละเอียด ไม่ทรงกลืนลงไป ไม่มีข้าวเหลืออยู่ในพระโอษฐ์จึงน้อมคำข้าวอีกคำหนึ่งเข้าไป ทรงมีปกติกำหนดรสอาหารแล้วเสวยอาหาร แต่ไม่ทรงติดในรส แต่พระองค์ทรงเสวยพระกระยาหารด้วยความมีสติพิจารณาและมีเป้าหมาย ดังความในพระสูตรเดียวกันว่า ท่านพระโคดมพระองค์นั้นเสวยพระกระยาหารประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ คือ
    ๑. ไม่เสวยเพื่อเล่น
    ๒. ไม่เสวยเพื่อมัวเมา
    ๓. ไม่เสวยเพื่อประดับ
    ๔. ไม่เสวยเพื่อตกแต่ง
    ๕. เสวยเพื่อดำรงพระวรกายนี้ไว้
    ๖. เสวยเพื่อยังพระชนม์ให้เป็นไปได้
    ๗. เสวยเพื่อป้องกันความลำบาก
    ๘. เสวยเพื่อทรงอนุเคราะห์พรหมจรรย์
พระองค์ทรงเน้นย้ำให้เห็นการเข้าใจความจริงของการบริโภคเพื่อการพัฒนาจิตใจและ ปัญญาของผู้บริโภคให้สูงกว่าการติดอยู่แค่รสอาหารที่บริโภค ไม่ให้หลงใหลในความอร่อยความน่า ปรารถนาที่ยั่วยวน ซึ่งจะเป็นตัวชนวนนำไปสู่การไม่ได้ใช้ปัญญา
      
๒) ไม่ตำหนิอาหาร พระพุทธเจ้าทุกพระองค์เป็นผู้วางใจเป็นกลางในอาหารที่จะได้รับ ไม่ทรงติหรือชมอาหารที่เขาน้อมมาถวาย แม้ว่ากันโดยชาติกำเนิดพระองค์กำเนิดในตระกูลกษัตริย์พระกระยาหารที่เสวยก็ เป็นอาหารของชาววัง ซึ่งมีความพิเศษกว่าอาหารของชาวบ้านธรรมดาแทบเทียบกันไม่ได้ แต่เมื่อ พระองค์ออกบวชแล้วพระองค์ก็ไม่ทรงรังเกียจอาหารที่ชาวบ้านนำมาถวาย จะเป็นคนรวยหรือคนจน เข็ญใจ พระองค์มิได้ทรงเลือกรับเฉพาะที่ดีหรือเลิศ แต่พระองค์ทรงรับด้วยความอนุเคราะห์ประการ หนึ่ง อีกประการหนึ่งเพราะพระองค์ไม่ตำหนิอาหารไม่ทำศรัทธาของทายกให้ตกไป เห็นได้จากตัวอย่างที่พระองค์ไม่ทรงตำหนิอาหารของคนจน และอนุเคราะห์คนจน เช่น ชายยากจนเข็ญใจคนหนึ่ง มีความประสงค์จะเลี้ยงพระภิกษุสักรูปหนึ่ง

เมื่อได้รับการชักชวนทั้งที่ตนก็ทำงานรับจ้าง จะได้กินอิ่มแต่ละวันยังยาก แต่ก็รับที่จะเลี้ยงพระภิกษุสักรูปหนึ่ง แต่เจ้าหน้าที่ลืมจัดพระภิกษุให้แก่เขา เหลือเพียงพระพุทธเจ้าพระองค์เดียวเขาจึงเข้าไปทูลนิมนต์พระพุทธเจ้าพระองค์ก็รับอาราธนาไปฉัน ที่บ้านคนเข็ญใจนั้น

พระพุทธองค์ทรงแสดงเหตุเป็นปัจจัยให้สัตว์บางพวกในโลกนี้ปรินิพพานในปัจจุบันว่า รสที่พึงรู้แจ้งทางลิ้นที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ชวนให้รัก ชักให้ใคร่พาใจให้กำหนัดมีอยู่ ถ้าภิกษุไม่เพลิดเพลิน ไม่เชยชม ไม่ยึดติดรสนั้นอยู่ เมื่อเธอไม่เพลิดเพลิน ไม่เชยชม ไม่ยึดติดรสนั้น วิญญาณที่อาศัยตัณหานั้นก็ไม่มีความยึดมั่นตัณหานั้นก็ไม่มีภิกษุผู้ไม่มีอุปาทานย่อมปรินิพพาน

การไม่ติชมอาหารของพระพุทธองค์ด้วยอาศัยอาหารของชาวบ้านเป็นเครื่องเลี้ยงชีพ แม้พระองค์จะอาศัยภัตที่เป็นเดนที่ผู้อื่นให้แล้ว พระองค์ก็ทรงสรรเสริญการให้ทานของทายก อาหารที่เขาถวายเป็นของควรแก่สมณะ การไม่เลือกอาหารว่าดีเลิศหรือเลวทราม เป็นเครื่องยืนยันให้เห็นข้อว่าพระองค์ไม่ได้บริโภคอาหารด้วยความยึดติดและทำพระองค์เป็นผู้เลี้ยงง่าย บนพื้นฐานของความเรียบง่าย ไม่ยุ่งยากกับการเลี้ยงดู แต่ให้ความสำคัญทางด้านการพัฒนาจิตใจและปัญญามากกว่าการยินดีด้วยรสที่สนองการเสพ

๓) การฉันอาหารมื้อเดียว การออกบวชของพระพุทธองค์ทรงวางเป้าหมายไว้ คือ การแสวงหาโมกขธรรมทางดับทุกข์ด้วยวิธีการที่พระองค์ทรงบำเพ็ญทุกกรกิริยาก็เป็นการแสดงให้เห็นว่าพระองค์ไม่ได้เสียเวลาอยู่กับการบริโภคอาหาร เพื่อประหยัดเวลาที่ผ่านไปในแต่ละวันไม่ให้สูญเสียไปกับเรื่องที่เกี่ยวเนื่องด้วยอาหารและการขบฉันของพระภิกษุ พระองค์จึงทรงประพฤติเป็นแบบอย่างโดยการบริโภคอาหารวันละมื้อ และแนะนำชักชวนพระภิกษุทั้งหลายให้ประพฤติตาม พระองค์ได้ทรงแสดงข้อดีของการฉันมื้อเดียวว่า ภิกษุทั้งหลาย เราฉันอาหารมื้อเดียว เราเมื่อฉันอาหารมื้อเดียว ย่อมรู้สึกว่าสุขภาพดีมี โรคาพาธน้อย กระปรี้กระเปร่า มีพลานามัยสมบูรณ์อยู่สำราญ โดยธรรมดาของคนทั่วไปการบริโภคอาหารสามารถบริโภคได้ทั้งวัน แต่คิดจากการบริโภค อาหารตามปกติวันละ ๓ มื้อ นับเวลาที่ต้องเสียไปกับการเตรียมอาหารที่จะบริโภค เวลาในการ บริโภค เมื่อบริโภคแล้วต้องเสียเวลาในการจัดเก็บทำความสะอาดภาชนะและสถานที่ รวมกันแล้ว ต้องเสียเวลาไปกับการที่บริโภคนี้มาก ยิ่งบริโภคมากก็ยิ่งเสียเวลามาก ซึ่งเป้าหมายของผู้ออกบวช คือการทำที่สุดทุกข์ให้แจ้ง คือเป็นผู้พ้นจากความทุกข์วิมุตติถ้ายุ่งอยู่กับเรื่องการบริโภคมากเกินไป ก็จะไม่มุ่งมั่นต่อการปฏิบัติธรรมเป้าหมายก็อาจจะคลาดเคลื่อนไป หรือไปไม่ถึงเป้าหมายของการ ออกบวชได้

การฉันมื้อเดียวของพระภิกษุมีคุณต่อผู้ออกบวชอย่างยิ่ง พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงคุณ ของการไม่บริโภคอาหารกลางคืนไว้ว่า ภิกษุทั้งหลาย เราไม่ฉันโภชนะในราตรีเลย เราเมื่อไม่ฉันโภชนะในราตรีก็รู้สึกว่าสุขภาพดีมีโรคาพาธน้อย กระปรี้กระเปร่า มีพลานามัยสมบูรณ์อยู่สำราญ



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น